ภาคีส่งเสริมการอ่านจัดงานเปิดโลกงานเขียนคนพิการ เสนอผลวิจัยความขัดแย้งกับทัศนคติ สังคมมองคนพิการเป็นคนชายขอบ วอนเปลี่ยนค่านิยม สงสาร เป็นให้โอกาส ขณะที่ “เอกชัย” เจ้าของงานเขียน “ล้มให้เป็น ลุกให้ได้” ฝากคนพิการทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง มีกำลังใจและอย่าท้อแท้
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาปรัชญาการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการผ่านหนังสือสู่โลกกว้าง “หนังสือของคนพิการเพื่อทุกคน” หวังสร้างกําลังใจทั้งผู้พิการและคนทั่วไป
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การอ่านและคนพิการสามารถผสมผสานกันได้ นำมาถ่ายทอดผ่านหนังสือ และเปิดโอกาสให้ผู้พิการแสดงความสามารถด้านการเขียน เพราะนอกจากจะเป็นการเรียนรู้แล้วยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะ นำไปการมีพัฒนาการและชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 1. 5 ล้านคน และที่กฎหมายกำหนดให้ทุกสถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คน จะต้องรับผู้พิการเข้าทำงาน 1 คนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ที่น่าตกใจ คือ คนพิการได้เข้าทำงานแค่ ร้อยละ 20 และได้ค่าตอบแทนเพียง 1 ใน 3 ของคนปกติเท่านั้น และจากการลงพื้นที่สำรวจคนพิการในชุมชนต่างๆ พบว่า มีคนพิการอยู่ประมาณ 200 ต่อ ยิ่งไปกว่านั้นการปิดกั้นการเรียนรู้จากพ่อแม่ที่มีความอับอายโดยไม่ให้ออกจากบ้าน ทำให้การเรียนรู้และพัฒนาสมองหยุดลง ทั้งที่บางคนมีความสามารถด้ายอื่นๆ ที่ดีกว่าคนปกติ
“ผมมองว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมคนพิการเปิดโอกาสให้ได้ทำ ได้เรียนรู้เหมือนกับคนปกติซึ่งจะสามารถทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนขาดโอกาสทั้งจากความไม่พร้อมของร่างกาย ขาดการส่งเสริม ถูกปิดกั้น มีน้อยคนที่จะสามารถลุกขึ้นมาสู่โลกกว้างได้ซึ่งถือว่าเก่งมาก แต่จากทั้งหมด กว่าหนึ่งล้านคนก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น”
นางสาวกันต์ฤทัย สืบสายเพ็ชร สาขาวาทนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดทำวิจัยเรื่อง “การสื่อสารปรัชญาการดำรงชีวิตอิสระในเรื่องเล่าประสบการณ์ของคนพิการ” กล่าวว่า วิจัยชิ้นนี้ได้เน้นการเจาะลึกหนังสือของคนพิการระดับรุนแรงทั้งตาบอด หูหนวก และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือเป็นอัมพาตตั้งแต่ครึ่งตัว จำนวน 17 เรื่อง รวมถึงสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวน 20 คน พบว่า งานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบอกเล่าประสบการณ์ การต่อสู้ เพื่อมุ่งเอาชนะอุปสรรคของการใช้ชีวิต การให้กำลังใจ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สามารถเรียนรู้และให้กำลังใจทั้งคนพิการ และคนปกติทั่วไป มุมมองในการนำเสนอจะมุ่งประเด็นการดำรงชีวิตที่อิสระ ซึ่งบอกถึงความเท่าเทียม และความภาคภูมิใจของตนเอง และการเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ซึ่งคนพิการไม่ได้เป็นเพียงผู้รับ หรือแค่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น นอกจากนี้ พบว่าความขัดแย้งต่อทัศคติของคนในสังคมกับตัวผู้พิการเอง โดยเฉพาะปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ยังมีทัศนคติผิด ไม่เข้าใจผู้พิการและมองเขาเหล่านั้นว่าเป็นคนชายขอบ
นางสุจิตรา เต้พันธ์ ผู้อำนวยการกองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. มีนโยบายหลักในการออกแบบและปรับปรุงห้องสมุดเพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการอ่านได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะมุมหนังสือของคนพิการ เช่น คนพิการทางสายตา โดยมีคอมพิวเตอร์ที่ตั้งโปรแกรมเอาไว้ให้ผู้ที่ต้องการแบ่งปันการอ่านกับผู้พิการทางสายตา ด้วยการอ่านออกเสียงลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้สามารถเข้าเลือกฟังได้ ทั้งนี้ ในอนาคต กทม. จะพัฒนาห้องสมุดและเปิดมุมหนังสือและการอ่านในลักษณะเดียวกันนี้ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ให้มีมุมแบ่งปันการอ่านเพื่อคนพิการ ซึ่งจะไม่เน้นเพียงแค่คนพิการทางสายตาเท่านั้น แต่จะพัฒนาให้เกิดความหลากหลายกับกลุ่มผู้พิการอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นห้องสมุดที่เอื้อประโยชน์ด้านการอ่านกับทุกคนอย่างแท้จริง
ด้าน นายเอกชัย วรรณแก้ว เจ้าของงานเขียน “ล้มให้เป็น ลุกให้ได้” กล่าวว่า อยากให้คนพิการเกิดแรงบันดาลใจ มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตและเห็นคุณค่าของตัวเอง และเอาชนะตัวเองเพื่อสร้างการยอมรับให้ได้ เพราะสำหรับคนพิการ ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบที่ทุกคนไม่ได้แตกต่างกัน ชี้ให้เห็นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าร่างกายภายนอก เนื่องจากสังคมปัจจุบันยังมีทัศนะคติเกี่ยวกับคนพิการแบบไม่เข้าใจ ยังมองคนพิการด้วยความสงสาร และต้องการสงเคราะห์ แต่คนพิการไม่ได้ต้องการแบบนั้น เขาอยากได้สายตาที่มองเขาแบบคนปกติและโอกาสในการทำทุกอย่างเหมือนคนปกติ ไม่ใช่ตัดสินว่าเขาทำไม่ได้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่