หากจะมีคำถามว่าหากเลือกได้อยากให้ลูกมีนิสัยอะไรสักอย่างติดตัวไปตลอดชีวิต ดิฉันคงต้องตอบว่าอยากให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านหนังสือ
เพราะการอ่านหนังสือมีคุณอนันต์จริง ๆ
แต่พฤติกรรมการรักการอ่านหนังสือของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝัง กระตุ้นและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี และพ่อแม่จะต้องเป็นผู้เพาะพันธุ์เมล็ดการอ่านให้ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในตัวลูกเอง
เริ่มจากอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อน ซึ่งทุกครั้งที่พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง สมองส่วนการเรียนรู้ของลูกน้อยได้เริ่มทำงานแล้ว
สมองส่วนหน้า (Frontal Lope) ทำหน้าที่เรียนรู้ จดจำเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรม เช่น การเดิน การพูด การแก้ปัญหา ควบคุมเกี่ยวกับการวางแผน การกระทำต่างๆ การตอบสนอง พัฒนาการของสมองส่วนนี้เริ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 - 12 เดือน
สมองส่วนหลัง (Parietal Lope) ควบคุมเกี่ยวกับความรู้สึกสัมผัสจากผิวกายส่วนต่าง ๆ รับรู้เรื่องของมิติสัมพันธ์กับกาลเวลา และสถานที่ สามารถจดจำสิ่งของจากการสัมผัสจับสิ่งต่าง ๆ การทำงานสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา
สมองส่วนท้ายทอย (Occipital Lope) ควบคุมเกี่ยวกับการมองเห็น จดจำสิ่งของหรือคน และรับรู้ ทำหน้าที่ส่งข้อมูลในสิ่งที่มองเห็นไปยังสมอง (เข้าใจว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นคืออะไร) สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิด
สมองส่วนขมับ (Temporal Lobe) รับรู้ข้อมูลจากการได้ยิน และการพูด และความจำบางส่วน
แล้วเรื่องการอ่านไปเกี่ยวข้องกับสมองอย่างไร
น้ำเสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้ลูกสนใจฟัง ขณะเดียวกัน สมองของลูกจะสร้างภาพตามเรื่องที่พ่อแม่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของลูก ทำงานสมบูรณ์ขึ้น
สมองของลูกไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การอ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางภาษาที่ดีให้กับลูก
การฟังนิทานเรื่องใหม่ ๆ สมองของลูกจะสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองขึ้นมา และขณะที่ฟังนิทาน เรื่องเดิมบ่อย ๆ จะเป็นการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทให้เพิ่มและทำงานมากขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นจะช่วยให้ลูกเข้าใจ คิดสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และเข้าใจได้รวดเร็ว
ช่วงเวลาที่ลูกจดจ่อ ตั้งใจฟังพ่อแม่อ่านหรือเล่านิทาน ลูกน้อยจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับลูก
การอ่าน เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก
ที่ผ่านมาจะพบว่าตัวเลขที่มีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาของเด็กไทย ก็คือ เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง เด็กไทยอ่านหนังสือไม่กี่บรรทัด และหนังสือที่เด็กอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือเรียน หรือหนังสือที่ถูกบังคับให้อ่าน
ทั้งที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประโยชน์ของการอ่านมีมากมาย การอ่านช่วยปลุกสมองลูก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีอย่างเหมาะสม เพราะการอ่านและการเล่ามีมิติในการเรียนรู้ได้หลากหลาย ถ้าพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เด็ก โอกาสที่ลูกจะเติบโตขึ้นมาชอบการอ่านหนังสือก็เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคมควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ
และเหตุผลที่ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือให้ได้ เพราะ
หนึ่ง - การอ่านช่วยพัฒนาสมองในทุกส่วนดังที่กล่าวข้างต้น
สอง - การอ่านไม่ได้หมายถึงการอ่านออกเสียงได้ หรือรู้ตามเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการอ่านที่นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิดแบบต่างๆ ของผู้อ่าน เช่น จินตนาการ การคิดวิเคราะห์ ตีความ เป็นต้น
สาม - ทำให้เด็กมีรสนิยมของตัวเอง เพราะจะมีหนังสือในแนวที่ชอบและไม่ชอบ ผู้ใหญ่ควรมีส่วนต่อการแนะนำแนะแนวหนังสือที่น่าสนใจและเหมาะกับวัยและความชอบของเด็กในช่วงต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกหนังสือทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรให้อิสระในการเลือกอ่านหนังสือที่ชอบด้วย หรือเลือกบางเวลาที่ต้องการอ่าน อยากอ่านที่ไหน อ่านมุมไหน อ่านท่าไหน ก็สุดแท้แต่ เพื่อให้เขารู้สึกเพลิดเพลินกับช่วงเวลาอ่าน
สี่ - การอ่านหนังสือจะทำให้ลูกมีความคิดในเชิงซับซ้อนได้มาก มีความคิดต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งกว่าเด็กที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ พ่อแม่มีส่วนต่อการช่วยเลือกหนังสือด้วยการค่อย ๆ เขยิบความยากและซับซ้อนขึ้นตามวัยของลูก นำหนังสือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ห้า - ลูกจะมีงานอดิเรกและมีความชอบของตัวเอง ไม่มุ่งแต่จะออกนอกบ้าน หรือเสาะแสวงหาการไปเที่ยวนอกบ้าน หรือไปเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น
หก - อย่าพลาดที่จะช่วยลูกค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ จากหนังสือเพื่อให้ลูกเห็นความสำคัญและความมหัศจรรย์ของการอ่านหนังสือ แล้วเขาจะพบว่าสามารถเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ผ่านหนังสือได้มากมาย
เจ็ด - เป็นการฝึกสมาธิอย่างดี ทำให้เขาจดจ่อกับสิ่งที่เขาสนใจและใช้เวลากับมันได้ตราบเท่าที่สนใจ และถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้เป็นอย่างดี อาจเริ่มด้วยการกำหนดเวลาอ่านในบ้าน เท่ากับเป็นการสร้างวินัยเรื่องการอ่านให้กับเขา
แปด - หนังสือดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจได้ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และคนใกล้ชิดที่จะสังเกตเด็กว่าสนใจเรื่องใด และพยายามนำหนังสือประเภทที่ลูกชอบมาให้ลูกได้รู้จักและสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเปิดโลกหนังสือให้กับลูก ที่สำคัญต้องเป็นหนังสือที่เด็กชอบ ไม่ใช่หนังสือที่ผู้ใหญ่ชอบ และพยายามอย่าฝืนความรู้สึกลูกเด็ดขาด หนังสือบางเล่มสามารถปรับพฤติกรรม หรือสร้างกำลังใจได้มากมาย
เก้า - สร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ด้วยการสร้างบรรยากาศในบ้าน อาจจะมีมุมอ่านหนังสือ แล้วปิดทีวี หรือสร้างบรรยากาศการอ่านในสวนก็ได้ พยายามสร้างช่วงเวลาอ่านของสมาชิกในครอบครัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
เห็นคุณอนันต์ของการอ่านหนังสือหรือยังคะ
..อย่าปล่อยให้โลกเทคโนโลยีมาแทนที่การอ่านหนังสือทั้งหมดเลยค่ะ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่