xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทุ่ม 4,000 ล้าน ไฟเขียวให้ พอช.เดินหน้าบ้านมั่นคงริมคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลากร วงศ์กองแก้ว ผอ.พอช.
รัฐบาลไฟเขียวให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ตามแผนงานปี 2559 - 2561 ในชุมชนริมคลองลาดพร้าว - คลองเปรมฯ รวม 74 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน ใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนเตรียมลงนามในสัญญาจ้างงบประมาณ 1,600 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 1,260 วัน

ตามที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยจะมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในลำคลองสายหลัก คือ คลองลาดพร้าว (ลาดพร้าว บางบัว คลองสอง) และคลองเปรมประชากร ระยะทางทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร ซึ่งจะดำเนินการโดยสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาท

วันนี้ (9 ธันวาคม) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน จึงได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหารุกล้ำคูคลอง พ.ศ. 2559 - 2561” ขึ้นมา มีเป้าหมาย 74 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน ประชากร 64,869 คน ใช้งบประมาณจำนวน 4,061.44 ล้านบาท

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ปี 2559 ใช้งบประมาณจำนวน 1,401.60 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 1,740.56 ล้านบาท และปี 2561 ใช้งบประมาณ 919.28 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าว แยกเป็น 1. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย 880.32 ล้านบาท 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 880.32 ล้านบาท 3. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,200.80 ล้านบาท และ 4. สำรวจ จัดทำฐานข้อมูล พัฒนาองค์กรชาวบ้าน และติดตามประเมินผล รวม 100 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการประกอบด้วย เขตจตุจักร, หลักสี่, ดอนเมือง, สายไหม, บางเขน, วังทองหลาง, ลาดพร้าว และเขตห้วยขวาง

“ล่าสุด วันนี้ (9 ธันวาคม) ทาง พอช. ได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการด้านความมั่นคงฯ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองประธานฯ และท่านได้สั่งให้ พอช.ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงต่อไป โดยภายในเดือนธันวาคมนี้ทาง พอช. จะเสนองบประมาณผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อให้ ครม. อนุมัติแผนงบประมาณปี 2559 จำนวน 1,400 ล้านบาทเศษ ซึ่งหาก ครม. อนุมัติก็จะเริ่มแผนงานได้ภายในต้นปี 59 นี้ทันที” ผอ.พอช. กล่าว

นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก พอช. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ชุมชนเดิม ดังนั้น ในกรณีนี้ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัยร่วมกัน ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่า ๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน

ส่วนในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิมรัศมี 5 - 10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เช่น ที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และเงินอุดหนุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค

“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา หน่วยงานภายนอก เช่น พอช. มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง” สยาม กล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานรองรับด้านที่อยู่อาศัย ขณะนี้มีชาวบ้านหลายชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านและเป็นหลักทรัพย์ในการยื่นขอสินเชื่อจาก พอช. รวมทั้งได้มีการออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชนเพื่อเตรียมการก่อสร้างบ้านแล้ว ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนนั้น ขณะนี้สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้บริษัทที่รับเหมาแล้ว คือ บริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง วงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการอนุมัติงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยและทำสัญญาจ้างต่อไป โดยคาดว่าการลงนามจะมีขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มก่อสร้างเขื่อน โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1,260 วัน

นายประภาส แสงประดับ ผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองที่ดำเนินการล่าช้านั้น เนื่องจากมีกลุ่มที่คัดค้านเสียผลประโยชน์ เช่น กลุ่มเจ้าของบ้านเช่า ร้านอาหาร และบ้านใหญ่ ร่วมกับนักการเมืองในพื้นที่ร้องเรียนว่าการก่อสร้างของชาวบ้านไม่ได้ขออนุญาตจากทางสำนักงานเขตอย่างถูกต้อง หรือผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคารของ กทม. จึงทำให้ทางสำนักงานเขต เช่น สนง.เขตหลักสี่ ระงับการสร้างบ้านมั่นคงในชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 และชุมชนคนรักถิ่น ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะรื้อถอนบ้านออกจากแนวคลองและแนวเขื่อนแล้วแต่ยังสร้างบ้านไม่ได้มานานหลายเดือนแล้ว

“เครือข่ายฯ จึงขอให้รัฐบาล และ กทม. ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการออกเป็นกฎหมายหรือข้อยกเว้นเฉพาะกิจในกรณี พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเพื่อให้ชาวบ้านสามารถสร้างบ้านมั่นคงต่อไปได้ ไม่ใช่ติดกับข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้างอาคาร เพราะเรื่องนี้เป็นการทำตามนโยบายรัฐบาล คือชาวบ้านรื้อถอนบ้านออกจากคลองเพื่อให้เขื่อนสร้างได้ ระบายน้ำได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วย” นายประภาส กล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น