นักวิจัยต่างชาติ เสนอรัฐบาลทั่วโลกขึ้นภาษียาสูบ 3 เท่า ช่วยได้ชัยชนะ 3 เด้ง ลดคนสูบได้ 1 ใน 3 ลดคนตายได้ 200 ล้านราย รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ “หมอประกิต” วอนรัฐบาลขึ้นภาษียาสูบตามมติที่ประชุมยูเอ็น
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศ.ประบาท จหา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวในงานเสวนาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์การควบคุมปัญหาจากการสูบบุหรี่ด้วยนโยบายภาษีบุหรี่ และนโยบายการบำบัดผู้ติดบุหรี่ด้วยยาในประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ ร่วมกับ เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ว่า การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการเดียวที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งการขึ้นภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น 3 เท่าจะช่วยลดคนสูบบุหรี่ได้ถึง 1 ใน 3 ถือเป็นชัยชนะ 3 เด้ง คือ 1. การลดอัตราการสูบบุหรี่และช่วยยับยั้งวัยรุ่นที่จะเริ่มผู้สูบรายใหม่ 2. ลดจำนวนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด และโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ได้ถึง 200 ล้านราย และ 3. เพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล จาก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็น 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่สามารถนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการด้านสุขภาพให้ดีขึ้น
“มาตรการการขึ้นภาษีบุหรี่ใช้ได้ผลกับทุกประเทศที่แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวย เช่น ฝรั่งเศส สามารถลดการบริโภคบุหรี่จากปี 1990 - 2005 ได้ถึงครึ่งหนึ่ง โดยการขึ้นภาษีให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การขึ้นภาษีที่คิดตามน้ำหนักต่อมวนของบุหรี่ จะช่วยลดช่องว่างของราคาบุหรี่ ทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้มากกว่าที่จะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าด้วย ซึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนเวลาโดยไม่จำเป็นขณะที่ในประเทศจีนและอินเดีย มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึง 1 ล้านคนต่อปี เกือบครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 70 ปี การขึ้นราคาบุหรี่เป็น 2 เท่า จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศจีนและประเทศอินเดียที่มีอายุต่ำกว่า 70 ปีได้มากกว่า 300,000 รายต่อปี” ศ.จหา กล่าว
ศ.จหา กล่าวต่อว่า สถิติทั่วโลกพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นชาย และ 1 ใน 10 ของวัยรุ่นหญิงจะสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา หากพวกเขายังคงสูบต่อไป เกือบครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ แต่หากเลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 40 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 90 แต่ก็มีจำนวนน้อยที่คิดจะเลิกสูบ ขณะที่อุตสาหกรรมบุหรี่ทั่วโลกทำกำไรได้ปีละประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดเป็นกำไรประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่หนึ่งคน ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหามาตรการยับยั้งผู้ริเริ่มจะสูบบุหรี่และช่วยการเลิกบุหรี่ ซึ่งมาตรการภาษีบุหรี่เป็นคานงัดที่มีพลังมหาศาล ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศสามารถเริ่มได้โดยการขึ้นภาษีบุหรี่ให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างสม่ำเสมอ และขึ้นภาษีขึ้นอีกเป็นครั้งคราวในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบโดยเฉพาะการขึ้นภาษียาสูบ เพื่อนำสังคมไทยเข้าสู่โรดแมป การพัฒนาที่ยั่งยืนตามข้อตกลงที่ที่ประชุมยูเอ็นเห็นชอบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยใน 17 วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนมีถึง 9 วาระที่การบรรลุเป้าหมายต้องทำให้การสูบบุหรี่ลดลง เช่น การขจัดความยากจนและความหิวโหย การส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำให้สุขภาพดี การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การขึ้นภาษียาสูบครั้งสุดท้ายผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว และยอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2,191 ล้านซอง จาก 2,003 ล้านซองในปี 2557 และการสำรวจปีที่แล้วมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 2 แสนคน โดยหนึ่งแสนคนมีอายุต่ำกว่า 17 ปี ทั้งนี้ผลการขึ้นภาษี 6 ครั้ง ระหว่าง ปี 2536 - 2549 ที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 4 ล้านคน ร้อยละ 60 ของการลดลงเป็นผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่