xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทจี้ รมว.สธ.ขวาง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ ก่อนเข้า สนช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชมรมแพทย์ชนบทร่อน จม.เปิดนึกถึง รมว.สธ. เรียกร้องจุดยืนต่อ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ หลังปล่อยผ่านมติ ครม.โดยไม่แสดงความเห็น หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชนระยะยาวจากการดัดแปลงพันธุกรรมพืชและสัตว์ แนะผลักดันศึกษาผลกระทบ เปิดการรับฟังความเห็นระดับชาติก่อนเข้า สนช.

วันนี้ (27 พ.ย.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยระบุว่า ขอให้ สธ.มีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่พบว่า สธ.ซึ่งดูแลสุขภาพประชาชนกลับไม่มีความเห็นในขั้นตอนปกติของการออกกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องมีการถามความเห็นของแต่ละกระทรวง ทั้งที่เป็นที่รับรู้กันในสังคมและวงวิชาการว่า พืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมไม่น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพระยะยาว แต่ สธ.กลับเพิกเฉยไม่มีความเห็นทักท้วง ตั้งข้อสังเกต หรือขอแก้ไขสาระให้รัดกุม เห็นได้ชัดจากที่ประชุม ครม.ที่มีการรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒฯาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.พิจารณาต่อไป เป็นหลักฐานว่า สธ.หายไปจากการทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพประชาชน แตกต่างจากสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สธ. ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จนไม่สามารถผ่าน ครม.ได้

"ในครั้งนั้น ครม.เพียงอนุญาตให้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปในระดับการทดลองของทางราชการได้ โดยให้ระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจน รวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฯลฯ” จดหมายระบุ

จดหมายยังระบุอีกว่า การตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ยีนที่ตัดแต่งโดยมนุษย์ที่มีการนำส่วนของยีนของไวรัสหรือแบคทีเรียมาใส่เข้าไปในพืชหรือสัตว์ อาจสร้างหายนะได้ในระยะยาว และที่สำคัญเมื่อมีการผสมพันธุ์ของพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอกับพืชหรือสัตว์พื้นถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่ต่างจากการเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ยีนปนเปื้อนนี้จะคงอยู่ในสายธารพันธุกรรมอีกนับพันนับหมื่นปี ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อ รมว.สธ.ให้ทบทวนจุดยืนต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นแห่งชาติ ก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.จะเข้าหรือไม่เข้าสู่ขั้นตอนของสนช.ต่อไป

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพิจารณากันมานานมาก กว่าจะผ่านออกมาได้ เชื่อว่าได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาทุกประเทศ ทุกพื้นที่ย่อมมีคนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยโดยเกรงว่าจะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพ และกระทบกับพืชดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ยังต้องดูว่ากฎหมายลูกที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ต้องดูผลที่จะเกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ก่อน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น