xs
xsm
sm
md
lg

"เบาหวาน" เสี่ยงฟันร่วงสูง เหงือกอักเสบรุนแรง แนะ 4 วิธีป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยเผยผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงสูญเสียฟันมากกว่าคนทั่วไป โรคปริทันต์ เหงือกอักเสบรุนแรงกว่าหลายเท่า แนะ 4 วิธีป้องกันเบาหวาน งดน้ำตาลเกินจำเป็น ลดข้าวแป้ง เพิ่มผักผลไม้ เริ่มออกกำลังกาย ชี้อาหาร ออกกำลังกายช่วยคุมระดับน้ำตาลได้ดี ย้ำน้ำตาลในเลือดสูงยังไม่ควรออกกำลังกาย

วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 14 พ.ย.ถือเป็นวันเบาหวานโลก โดยโรคนี้ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งที่จอประสาทตา ไต เส้นประสาท หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ทำให้เกิดแผลที่เท้า บางรายต้องตัดขา ตาบอด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสสูญเสียฟัน ฟันผุ ติดเชื้อราในช่องปาก เป็นแผลและหายช้ามากกว่าคนปกติ หากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มีโอกาสเกิดโรคปริทันต์และเหงือกอักเสบรุนแรงกว่าหลายเท่า และเสี่ยงต่อการละลายของกระดูกเบ้าฟัน และสูญเสียเอ็นยึดปริทันต์ ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากตนเองมากเป็นพิเศษ โดยต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 3 เดือน

"ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า และน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งผู้ที่อายุเกิน 35 ปี หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเสี่ยงด้วย ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการ “งด” กินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม “ลด” ข้าว แป้ง จากข้าวขัดขาวเป็นข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสี “เพิ่ม” การกินผัก ผลไม้ หลากหลายชนิด หลายสีสลับกันทุกวัน “เริ่ม” ออกกำลังกาย เป็นประจำ สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 - 45 นาที หรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลได้ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท โฮลเกรน ธัญพืช แทนข้าวขัดขาว เลือกกินเนื้อปลาเพราะมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยง หนังหมู มันหมู กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก และเลือกใช้น้ำมันจากไขมันไม่อิ่มตัวในการปรุงอาหาร แต่ไม่ควรกินเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน สำหรับผักสามารถกินได้ไม่จำกัดแต่ให้เลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ที่สำคัญควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิด และอาหารหมัก ดอง อาหารเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ส่วนการออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ แถมยังช่วยลดไขมันส่วนเกิน ควบคุมหรือลดน้ำหนัก ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250-300 มก./ดล. หรือ 300 มก./ดล. ไม่ควรออกกำลังกายจนกว่าน้ำตาลจะเข้าสู่ระดับปกติ สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น