xs
xsm
sm
md
lg

คนไทย “เนือยนิ่ง” เพิ่มขึ้น สธ.ชวนฝึก “สติ” คู่กิจกรรมทางกาย ลดป่วยโรคเรื้อรัง เครียด ซึมเศร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายลดลงจาก 85% เหลือ 68% ชวนฝึก “สติ” คู่กิจกรรมทางกาย ใช้เทคนิค “รู้ลมหายใจและรู้ในกิจที่ทำ” ช่วยสุขภาพกาย - ใจแข็งแรง ลดป่วย ลดเครียด ลดซึมเศร้า ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ชง ครม. ต้นปี 59 เพิ่มกิจกรรมทางกาย

วันนี้ (30 ต.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “ชวนคนไทย ฝึกสติ สร้างสุข ลดโรคพร้อมกันทั่วประเทศ” เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2558 ว่า ตั้งแต่ปี 2532 รัฐบาลได้มีมติให้ทุกวันที่ 1 - 7 พ.ย. ของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งปีนี้ สธ. โดยกรมสุขภาพจิต นำแนวคิด เรื่อง “สติ” (Mindfulness) มาใช้สร้างสุขในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะนำมาใช้กับกิจกรรมทางกาย วิธีการฝึกทำได้ง่าย ด้วยเทคนิค “ฝึกให้รู้ลมหายใจและรู้ในกิจที่ทำ” ในขณะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย จะช่วยให้กิจกรรมทางกายเป็นไปอย่างเบิกบานใจ ไม่น่าเบื่อ ปลอดภัย และทำได้ประจำมากขึ้น

จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยในปี 2558 พบว่า มีความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ทั้งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็ง จากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และการเดินทาง ขณะที่ด้านสุขภาพจิตล่าสุดพบประมาณ 9 แสนคน เป็นโรคซึมเศร้า ประมาณ 1.6 ล้านคน เป็นโรควิตกกังวล ซึ่งถ้าใจเครียดจะส่งผลต่อกาย นำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ได้" รมว.สธ. กล่าว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ฝึกสติเป็นประจำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง ทำให้มีความสงบมากขึ้น ลดความเครียดและซึมเศร้าลงได้ โดยกรมสุขภาพจิตมีโปรแกรมพัฒนาสติเพื่อสุขภาพแบบง่าย เช่น การฝึกเดินอย่างมีสติ การฝึกกินอย่างมีสติ การฝึกสำรวจความรู้สึกของร่างกาย การฝึกสติในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการตึงเครียด ไม่สะสมเรื้อรังจนก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เป็นต้น ขณะนี้ มีองค์กรภาครัฐและเอกชนนำโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสติไปใช้ในการพัฒนาองค์กร อาทิ บริษัท โรงเรียน โรงพยาบาล ในปีนี้ตั้งเป้าดำเนินการในองค์กร 20 แห่งทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ

ด้าน นพ.ชัยพร พรหมสิงห์ รักษาการแทน ผอ.กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า กิจกรรมทางกาย เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นบันได การเดิน ปั่นจักรยาน การลุกยืน เดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นต้น จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงจากร้อยละ 85 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 62 - 68 ในปี 2552 - 2557 หรือเรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” มากขึ้น จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 - 2563 ตั้งเป้าให้คนไทยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งลดลงร้อยละ 10 โดยจะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ต่อคณะรัฐมนตรีในต้นปี 2559

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษก สธ. กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมมือกับ สสส. นำมิติด้านสุขภาวะทางจิตไปประสานกับสุขภาวะทางกาย ผ่านโปรแกรมการทำกิจกรรมทางกายอย่างมีสติ ซึ่งมีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า จะเกิดประสิทธิภาพและความสุขเพิ่มมากขึ้น ในการทำกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยานอย่างมีสติ ทั้งนี้ สสส. จะนำโครงการฯ นำร่องในเครือข่ายกิจกรรมทางกาย ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียน องค์กรไร้พุง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลสุขภาวะ องค์กรสุขภาวะ รวมทั้งอบรมนักวิ่งหน้าใหม่ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสาธารณสุข ครั้งที่ 6 ในวันที่ 16 - 19 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น