xs
xsm
sm
md
lg

สสส.เตรียมสาง 3 ประเด็นใหญ่ร่วม สธ.ยันเอ็นจีโอนั่งบอร์ด สสส.ได้ ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสส. เปิดอกครั้งแรกหลังแจง ศอ.ตช. เผยอธิบายเคีลยร์ทุกประเด็น ไร้ทุจริต ดำเนินงานผิดระเบียบ เตรียมสาง 3 ประเด็นใหญ่รวม คกก. กำหนดทิศทาง สสส. ของ สธ. “ขอบเขตสุขภาพ - งบประมาณ - ธรรมาภิบาล” ไม่ฟันธงแก้กฎหมาย แต่เป็นหนึ่งในแนวทาง ยันเอ็นจีโอมานั่งเป็นกรรมการกองทุนได้ ไม่ผิดกฎหมาย 

จากกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ได้เรียก ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาหารือภายหลังที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบพบว่า สสส. มีการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ โดยที่ประชุมให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544

วันนี้ (27 ต.ค.) ทพ.สุปรีดา แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สสส. อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจง จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใด ๆ แต่หลังจากมีการชี้แจงจึงสามารถอธิบายในส่วนที่เปิดเผยได้ โดยในส่วนของข้อกล่าวหาที่ว่าทุจริตและดำเนินการผิดระเบียบต่าง ๆ นั้น เมื่อ สสส. ชี้แจงทั้งแง่กฎหมายและข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชุมก็ไม่ได้ติดใจในประเด็นเหล่านี้อีก ส่วนเรื่องประสิทธิภาพในการจัดทำแผน ซึ่งมีข้อสงสัยว่า สสส. ทำแผนสอดคล้องกันหรือไม่ ทั้งแผนระยะ 10 ปี ระยะ 3 ปี และระยะ 1 ปีนั้น สสส. ได้แสดงหลักฐานว่ามีความสอดคล้อง โดยแสดงแผนการดำเนินงานปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ถูกตรวจสอบ มีตัวชี้วัดในการดำเนินงานถึง 113 ตัว ก็สอดคล้องกับแผนระยะ 3 ปี โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงหลัก เช่น บุหรี่ เหล้า เกี่ยวข้องถึงร้อยละ 54

“ส่วนที่กล่าวหาว่า สสส. ลดอัตราการสูบบุหรี่ดื่มเหล้าลงไม่ได้ จึงทำงานได้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนนั้น สสส. ได้ชี้แจงว่าทิศทางใหญ่นั้นอัตราการสูบบุหรี่ดื่มเหล้าลดลง อย่างไรก็ตาม สสส.เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ยังมีอีก 27 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอัตราการสูบบุหรี่ และยังมีงานวิจัยชี้ชัดว่าอย่างการลดอัตราการสูบบุหรี่ อันดับหนึ่งที่มีผลคือเรื่องของภาษี อันดับ 2 คือ การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ซึ่ง สสส. ก็ต้องทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หันมาทำในเรื่องนี้ หากคุมได้สำเร็จก็ถือเป็นความสำเร็จร่วม สำหรับตัวชี้วัดเรื่องบุหรี่และเหล้าก็อยู่ในตัวชี้วัด 113 ตัว ซึ่งได้รับการประเมินแล้วได้คะแนน 4.77 คะแนนจาก 5 คะแนน และได้รายงานไปยัง ก.พ.ร. และ ครม. แล้ว” ทพ.สุปรีดา กล่าว

ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งมี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ​ใน 3 ประเด็น คือ 1. ขอบเขตคำว่าสุขภาพ เพื่อให้เกิดความพอดี ไม่เกิดข้อถกเถียงทั้งทางวิชาการและสังคม  2. งบประมาณ และ 3. ธรรมาภิบาลเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ การวิเคราะห์ขอบเขตของสุขภาพ จะเป็นไปตามนิยามและ วัตถุประสงค์ 6 ข้อของ พ.ร.บ. ซึ่งการดำเนินงานของ สสส. ตามกฎหมายมอบอำนาจให้บอร์ด สสส. กำหนดสิ่งที่จะทำในแต่ละปีเรียกว่าแผนดำเนินการว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งจะนำภาระโรคของประเทศไทยที่เป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้น ๆ มาวิเคราะห์ทางวิชาการเพื่อทำเป็นแผนงาน อย่างปี 2557 มี 14 แผน เช่น ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหาร กิจกรรมทางกาย เป็นต้น

“แนวทางแก้ไขการทำงาน สสส. ก็มีการเตรียมไว้แล้ว แต่ ศอ.ตช.​ให้นำไปหารือต่อกับคณะกรรมการ ของ สธ. ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด แต่ยกตัวอย่าง​ได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล มีการ​เพิ่มกรรมการด้านธรรมาภิบาลในองค์กรมากว่า 1 ปี โดยให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามามีส่วนร่วมและ​สัญญาคุณธรรม โดยให้ สสส. เป็นองค์กรนำร่อง เป็นต้น” ทพ.สุปรีดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าต้องแก้กฏหมายหรือไม่ ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้ผูกขาด หรือลงรายละเอียด แต่การแก้กฏหมายเป็นหนึ่งในวิธีในการแก้ไข เช่น เรื่องส่งงบประมาณคืนแผ่นดิน มีการถกเถียงในที่ประชุมในประเด็นดังกล่าว ซึ่ง ​พล.อ.ไพบูลย์ พูดชัดว่า การจัดทำงบประมาณแผ่นดินที่ต้องผ่านสภา ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ทำอย่างไรให้รัดกุม ทำให้คล่องตัวเหมือนเดิม และไม่ใช่กลับไปเป็นราชการเหมือนเดิม

เมื่อถามเรื่องการส่งคืนงบประมาณ ​ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่ราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งไม่ได้เขียนไว้เฉพาะใน พ.ร.บ.สสส.เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดเผยรายชื่อมูลนิธิ องค์กร หน่วยงาน ​ที่เป็นกรรมการในบอร์ด และเป็นผู้รับทุน ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า ในเรื่องกรรมการได้มีการออกแบบไว้ก่อนจะเกิด พ.ร.บ.สสส. โดยกรรมการจะมาจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ ซึ่งจงใจเพื่อให้สามารถทำงานให้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และมีการวางแผนเรื่องความสัมพันธ์ต้องห้ามตามหลักสากลคือ ห้ามการมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ และมีการทำมาตรฐานจรรยาบรรณของกรรมการตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งในกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามหน่วยงานองค์กรที่ทำเพื่อสาธารณะและไม่ได้แสวงหาผลกำไร เช่น เอ็นจีโอ เข้ามาเป็นกรรมการบอร์ดแต่อย่างใด

"จะเห็นว่า มูลนิธิ​ กลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ ถูกมองในแง่ร้ายเกินจริง ซึ่งตามกฎหมาย บอร์ดออกแบบให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในบอร์ด เข้ามาทำงานร่วมคิดตัดสินใจ ซึ่งกลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ ไม่ได้มีหุ้นส่วนเพื่อหากำไรแต่อย่างใด ซึ่งตามกฎหมายถ้าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจก็สามารถเป็นบอร์ดได้ อีกทั้งองค์กรเหล่านี้ มักเชิญให้คนดี คนเด่น คนดัง ไปเป็นประธาน กรรมการ มูลนิธิต่าง ๆ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ หรือ มีส่วนได้ส่วนเสีย​ ต้องเห็นใจนักทำงานทางสังคม ผู้ที่จะเลือกด้านสังคม ไม่มั่นคง ไม่ร่ำรวย ซึ่งการปรากฏชื่อในมูลนิธิรับทุน ทำให้สังคมเคลือบแคลง แต่อยากให้สังคมทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย ยืนยันว่าที่ผ่านมา สสส. ทำถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งชื่อที่ถูกพูดถึงในเรื่องผลประโยชน์​ทับซ้อน อาจทำให้บุคคลนั้น เกิดความเสียหายได้” ทพ.สุปรีดา กล่าว

​เมื่อถามถึงการเปิดเผยชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สสส.ว่าเป็นผู้รับทุนด้วย ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า ไม่อยากลงรายละเอียดแต่ละโครงการ แต่ สสส.มีการกำหนดเกณฑ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งในที่ประชุม ศอ.ตช. นั้น สสส. ได้ทำเป็นตารางชี้แจงทั้งหมดไว้แล้ว 

“ความไม่เข้าใจในประเด็นการทำงานของ สสส.ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ของผู้ตรวจสอบที่ยังไม่ได้สอบทานกับผู้ถูกตรวจสอบ และมีการออกสื่อไปก่อน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง เจ้าหน้าที่ สสส.​ และภาคี รู้สึก อกไหม้ ไส้ขม และถูกทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งระหว่างนี้ สสส. ยังอยู่ระหว่างกระบวนการชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอไม่ลงรายละเอียดที่ละประเด็น หรือ ที่ละโครการ ซึ่งทั้งหมดมีข้อมูลสามารถอธิบายได้ แต่ขออธิบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน” ทพ.สุปรีดา กล่าว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า คงต้องดูข้อมูลว่ามีการทับซ้อนจริงหรือไม่ อย่างเรื่องที่มีการเปิดเผยออกมาก็ต้องดูรายละเอียดว่าตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่ อย่าเพิ่งไปตัดสิน เพราะพูดไปอาจจะกลายเป็นผิด ส่วนตัวคิดว่าทุกคนตั้งใจดี มีส่วนน้อยเท่านั้นใน สสส. ที่ต้องปรับปรุง กรณีคนที่นั่งเป็นกรรมการหน่วยงานที่ให้ทุนไปตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาขอรับทุนจากองค์กรที่ตนเองก็นั่งเป็นกรรมการอยู่นั้น ก็ต้องดูตามข้อบังคับว่าเปิดช่องให้ดำเนินการอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ก็ต้องว่าไปตามนั้นจะตัดสินตามความรู้สึกไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอาความรู้สึกตัดสินหมด เพราะฉะนั้นจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น