พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโครงการใหม่ “อาชีวะบริการ ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน” มุ่งเป้า 2,000 ศูนย์ ให้บริการชุมชน ตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐฯ ชูศักยภาพนักเรียนอาชีวะ พร้อมให้บริการเน้นซ่อมแซมอุปกรณ์แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมทั้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, รองเลขาธิการ สอศ. และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมพิธีเปิดโครงการ “อาชีวะบริการ ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน” ณ ศูนย์วัดบัวแก้วเกษร จังหวัดปทุมธานี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับไปดำเนินการ โดยที่ทาง สอศ. ได้มีการนำเสนอโครงการอาชีวะบริการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เป็นโครงการพิเศษที่ใช้ศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งมีการประสานงานไปยัง ผู้บริหารวิทยาลัย ให้สานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันออกให้บริการประชาชนผ่านศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it center
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของโครงการ “อาชีวะบริการ ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน” จะเน้นซ่อมบำรุงเครื่องมือการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์การประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในครัวเรือน ระบบไฟฟ้า ประปาและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในครัวเรือนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพื่อลดรายจ่ายในการซ่อม บำรุงและยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ตลอดจนยังเป็นโอกาสดี ที่วิทยาลัยอาชีวะของรัฐบาลและเอกชน จะได้โอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีการเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนพร้อมกัน 4 ศูนย์ และให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและพื้นที่ในการให้บริการ โดยได้รับการจัดสรรงบฯเพื่อใช้ดำเนินการโครงการอาชีวะบริการฯ 382 ล้านบาท ในวิทยาลัย 368 แห่ง จำนวน 2,000 ศูนย์ นอกจากจะช่วยบริการด้านการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงเครื่องมือแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการมีจิตอาสาของนักเรียน พร้อมทักษะในวิชาชีพที่เข้มข้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการเรียนรู้แบบบูรณาการ(Work Integrated Learning : WIL)
ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มต้นในเดือน พ.ย. 58 โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 58 ตามมาตรการ ของรัฐบาล และมีการกำชับให้ดูแลเรื่องการปลอดภัยระหว่างการ ปฏิบัติงานด้วย เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ปกครองคลายกังวล และมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นผลดีทั้งกับการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ และที่สำคัญคือ เกิดประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาอย่างยิ่ง ที่จะได้มีโอกาสทดลองปฏิบัติงานจริง ทั้งยังเป็นการปฏิบัติงานที่เป็นเกียรติเพราะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีกด้วย