ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สัมมนาสำหรับเครือข่ายผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงผู้บริหาร และผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ภายใต้โครงการผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อชุมชน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (24 ส.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต นายบูรณ์ ฐาปนดุล ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานเปิดการสัมมนาสำหรับเครือข่ายผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงผู้บริหารและผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ภายใต้โครงการผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อชุมชน โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เข้าร่วม จำนวน 480 คน
นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เน้นการลงพื้นที่เพื่อเผยแพร่ถึงบทบาทอำนาจ หน้าที่ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน ช่องทางการร้องเรียนในกรณีที่ประชาชนต้องการขอรับความเป็นธรรม การออกหน่วยบริการรับเรื่องร้องเรียนเคลื่อนที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้ดำเนินการควบคู่กับการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมในทุกพื้นที่ จากสถิติการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากประชาชนในส่วนภูมิภาค แต่เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีศูนย์อยู่ในจังหวัดต่างๆ ดังนั้น การลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนโดยมีการพบปะกันอย่างใกล้ชิดจึงเป็นประโยชน์อย่างมาก ทุกคนสามารถติดตามผลการดำเนินงานหรือปรึกษาหารือกันได้แบบเผชิญหน้า ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อกัน สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือทำงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วมได้ตามขอบเขต ภารกิจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้โครงการ “ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อชุมชน” ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในจังหวัดต่างๆ มาแล้ว 18 ครั้ง
โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ผู้บริหาร และผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICTชุมชนมาแล้ว 706 ศูนย์ จากจำนวน 1,881 ศูนย์ เพื่อต้องการเสริมความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิทธิของทุกคนในแต่ละชุมชน รวมทั้งขอให้นำผลไปขยายบอกต่อ และดูแลกันให้เกิดความเข้มแข็ง สิ่งที่สำคัญคือ ต้องการให้ทราบถึงวิธีการเข้าถึงบริการของผู้ตรวจการแผ่นดินได้อย่างรวดเร็วด้วยสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบมัลติมีเดีย (E-Learning) ซึ่งสามารถติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน การเรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งยื่นเรื่องร้องเรียนได้โดยผ่าน “โปรแกรมการรับเรื่องร้องเรียน”
นายบูรณ์ กล่าวด้วยว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองเศรษฐกิจ และท่องเที่ยว จึงเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายปัญหาการไม่เข้าใจกันอาจเกิดได้ง่าย การให้เครือข่ายต่างๆ ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเข้าถึงบริการภาครัฐ ประชาชนก็จะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยการสัมมนานั้นเพื่อให้ผู้นำชุมชนในจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร และผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของจังหวัดภูเก็ต ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมให้แก่ประชาชน อีกทั้งทำให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้ประชาชนได้รู้จักบทบาท อำนาจ หน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน และการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมให้ประชาชนในชุมชน ตลอดจนเป็นช่องทางหนึ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการส่งเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ