xs
xsm
sm
md
lg

พปส.ร้องผู้ตรวจฯ ฟัน กทม.ใช้ดุลพินิจมิชอบให้สร้างสะพานคร่อมทางสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มพิทักษ์กฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดการ กทม.ใช้ดุลพินิจมิชอบ ให้เซ็นทรัล สร้างสะพานเชื่อมเอ็มบาสซี กับชิดลม คร่อมทางสาธารณะ ชี้ไม่มีการสอบถามความเห็นชาวบ้าน แถมนำกุญแจปิดประตูทางขึ้นลงด้วย ระบุทำเพื่อธุรกิจล้วนๆ จึงส่อเป็นการทุจริต



วันนี้ (13 ส.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กลุ่มพิทักษ์กฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ (พปส.) นำโดยนายปวริศ ผุดผ่อง เลขาธิการ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรุงเทพมหานคร กรณีใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายในการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ปาร์ก และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามและสะพานเชื่อมระหว่างทั้งสองห้าง คร่อมทางสาธารณะ

โดยนายปวริศกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าระหว่างปี 2554-2556 กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่มีหน้าที่กำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามและมีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่สาธารณะให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเจ้าของห้างสรรพสินค้าทั้งสองแห่งก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม และก่อสร้างทางเชื่อมเข้าสู่ห้างเซ็นทรัลเอ็มบาสซี และห้างเซ็นทรัลชิดลม คร่อมซอยสมคิดและคลองสาธาณประโยชน์ ทั้งที่ซอยสมคิดเป็นซอยที่มีผิวการจราจรเพียง 2 ช่องทาง กว้างเพียงแค่ 5-6 เมตร การจราจรเบาบาง บริเวณใกล้เคียงไม่มีแหล่งชุมชน หรือมีปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากคนเดินข้ามและสถิติอุบัติเหตุรถชนคนเดินข้ามแต่อย่างใด และไม่พบว่าก่อนก่อสร้างมีการสอบถามความต้องการขอประชาชนที่เกี่ยวข้อง คำขอไม่ได้เข้าคณะกรรมการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิจารณา

นายปวริศกล่าวว่า ประกอบกับสะพานลอยและสะพานทางเชื่อมเมื่อสร้างแล้วเสร็จตามข้อกฎหมายและข้อตกลงต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน แต่กลับพบว่าในช่วงกลางคืนมีการนำโซ่มาคล้องล็อกกุญแจปิดประตูทางขึ้นลงของสะพานลอยคนเดินข้ามทั้งสองฝั่ง และติดป้ายห้ามขึ้นวางไว้ที่บริเวณ ปากทางขึ้นบันไดทางขึ้นของทั้งสองฝั่ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สะพานลอยคนเดินข้ามได้จริง รวมทั้งมีการนำพื้นที่บริเวณผนังภายในของสะพานลอยคนเดินข้ามไปติดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว สะท้อนว่าการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามและสะพานเชื่อมระหว่างทั้งสองห้างเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทเอกชนเจ้าของห้างเท่านั้น คำขออนุญาตก่อสร้างสะพานลอยเพื่อให้คนเดินข้ามจึงเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และการที่กรุงเทพมนครในฐานะเจ้าพนักงานได้อนุญาตก็เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางกลุ่มเท่านั้น จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวและมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสเป็นธรรมต่อไป













กำลังโหลดความคิดเห็น