xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอรวมตัวหนุนสอบ สสส.โปร่งใส ผิดต้องแก้ไข ยันสวดมนต์ข้ามปีตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็นจีโอรวมตัวออกแถลงการณ์หนุนตรวจสอบ สสส.โปร่งใส ทำงานตรงตามกฎหมาย ชี้ต้องทำให้สังคมเข้าใจความหมายสุขภาวะ ยันโครงการสวดมนต์ข้ามปีเกี่ยวสุขภาพทั้งกายและใจ ลดเมาข้ามปี รับหากการบริหารงาน สสส.มีปัญหาก็ต้องแก้ไข

วันนี้ (22 ต.ค.) ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ประกอบด้วยเครือข่ายที่ทำงานด้านสังคม อาทิ ด้านแอลกอฮอล์ ด้านผู้หญิง ด้านเยาวชนและครอบครัว ด้านผู้ใช้แรงงาน ด้านแรงงานนอกระบบ ด้านผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ด้านชาติพันธุ์ ด้านศาสนา เป็นต้น ร่วมกันแถลงข่าวและออกแถลงการณ์ว่า 1.ขอสนับสนุนการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีขอบเขตการสร้างเสริมสุขภาพ ตามนิยามของ พ.ร.บ. โดยพบว่าการประเมินผล 10 ปี องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ได้ยกให้ สสส. เป็นต้นแบบเพื่อขยายงานสร้างสุขภาวะในประเทศอื่น และเห็นว่าเป็นทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ 2.สนับสนุนหลักการให้ สสส. และองค์กรอิสระอื่น เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ ตามมาตรฐานสากลและไม่เลือกปฏิบัติ และ 3.สสส. เป็นองค์กรที่เป็นกลไกอิสระ แม้จะมีการปรับปรุงการทำงานของ สสส. แต่ต้องคงเจตนารมณ์กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไว้

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล เครือข่ายองค์กรผู้หญิง กล่าวว่า ขณะนี้สังคมเกิดความสับสนและไม่เข้าใจเรื่องการทำงานของ สสส.ในหลายประเด็น และห่วงว่าจะได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน บางความเห็นพูดแต่ว่า สสส.ดีมาก บางความเห็นก็ว่าแย่ไปหมด ซึ่งสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการคือ การได้รับโอกาสอธิบายการทำงานว่า วัตถุประสงค์ของการทำงานสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร และในฐานะที่ทำงานโดยรับทุน สสส.ด้วย ทุกคนย่อมมีสิทธิ์พูดว่างานที่ทำนั้นสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างไร แต่ยืนยันว่าการรวมตัวในวันนี้ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งหรือใช้เงินของ สสส.มาเพื่อปกป้อง สสส. เพราะแม้จะรับทุนจาก สสส. แต่ก็ไม่ได้เป็นลูกน้อง หลายเครือข่ายเกิดขึ้นก่อนที่จะมี สสส.ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ภาคประชาชนเชื่อว่าการตรวจสอบ สสส. รัฐบาลสามารถทำได้และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในทุกองค์กรเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แม้แต่ภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็ยินดีให้ตรวจสอบเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. นายจะเด็จ กล่าวว่า คำว่าสุขภาวะมีความหมายกว้างและมีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือทำให้สังคมเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละเรื่องที่ สสส.ทำมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน เช่น การเข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนเลิกเหล้า เมื่อเลิกเหล้าแล้ว เกษตรอินทรีย์ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร พืชปลอดสารพิษ ก็จะเป็นโครงการที่เข้าไปต่อเนื่องเกื้อหนุนประชาชนได้ เป็นต้น ซึ่งสุขภาวะนั้น เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้การยอมรับ องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศถึงความหมายสุขภาวะไว้อย่างกว้างขวางและเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกต้องทำงานในเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือชี้ถึงโครงการที่ยังบริหารไม่มีประสิทธิภาพ นายจะเด็จ กล่าวว่า เรื่องที่ยังมีปัญหาก็ต้องยอมรับและช่วยกันแก้ไข แต่ต้องมองภาพให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องนโยบายการทำงาน แต่ย้ำว่า การตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องยอมรับการตรวจสอบ และเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมๆกัน

นายคำรณ ชูเดชา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวว่า โครงการสวดมนต์ข้ามปี ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ระบุว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน แต่สาเหตุที่ สสส.ต้องสนับสนุนเพราะตั้งแต่ปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ทำให้นักเที่ยวเสียชีวิตเกือบร้อยราย จึงเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยด้วยการเปิดพื้นที่ทางสังคมจากเมาข้ามปี เป็นสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งปีที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) รายงานว่ามีคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีถึง 10 ล้านคน ทำให้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิยามการสร้างสุขภาวะของสังคม

พระดุษฎี เมธังกุโร เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า การสวดมนต์ข้ามปีเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรง ทั้งทางกายและใจ เป็นการสร้างพื้นที่ทางเลือกให้กับประชาชนหันมาสวดมนต์ แทนการไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามปี ขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ หรือก่อเหตุอาชญากรรม การที่ สสส.เข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดกระแสในสังคม ผู้คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น จากเดิมที่จัดทุกปีที่สนามหลวงแต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หากไม่มี สสส.การทำงานเรื่องเหล่านี้จะยิ่งยากมาก โครงการสวดมนต์ข้ามปีจึงถือว่าตรงนิยามด้านสุขภาพของ สสส. และเป็นนิยามเดียวกันกับโครงการลดเหล้าเข้าพรรษา เป็นโครงการที่มีประโยชน์ และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่เข้าใจว่า ทำไม สตง.ถึงไม่เข้าใจเรื่องนี้

น.ส.จิตติมา ภาณุเดชะ เครือข่ายสุขภาวะทางเพศ กล่าวว่า การทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการแจกถุงยางอนามัย แต่เครือข่ายฯ ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ในการแก้ปัญหา โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปผลักดันให้เกิดความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และการสร้างศักยภาพชุมชนให้พัฒนาตัวเองในเรื่องเหล่านี้ ปัจจุบัน สังคมมีความซับซ้อนของปัญหาอย่างมาก การแก้ปัญหาไม่สามารถแค่วิธีการใดเพียงวิธีการเดียวได้ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่เครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ารับทุนสสส.ได้เข้าไปดำเนินการอยู่ตลอด

น.ส.มีนา ดวงราษี ประธานเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน กล่าวว่า หลายคนมองว่าเรื่องการอ่านเป็นงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่เครือข่ายฯ จะทำงานเน้นการเสริมสร้างพัฒนาทางการด้านสมอง กระตุ้นการเรียนรู้ อ่านเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าเด็กในวัย 5 ขวบแรกนั้นกว่าร้อยละ 80 เป็นช่วงที่เซลล์สมองมีการพัฒนามากที่สุด การปลูกฝังส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือนิทานวันละ 10-15 นาที จะช่วยให้สมองมีการเติบโต ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปในตัวด้วย ต่างจาก ศธ.ที่เน้นเรื่องอ่านออกเขียนได้ หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เน้นการคัดกรอง

ด้าน นางอรุณี ศรีโต ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน กล่าวว่า แรงงานนอกระบบที่พบมากกว่า 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ต้องทำงานหนัก ทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา มีความเครียด หันไปสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตามมาได้ แต่ปัจจุบันที่เครือข่ายลงไปทำงานในพื้นที่ทำให้มีคนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่มากขึ้น และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐกลับไม่เห็นทำอะไร

น.ส.ทองพูล บัวศรี เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเร่ร่อนมีจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่ภาครัฐปฏิเสธการรับผิดชอบ เครือข่ายฯ จึงเข้าไปดูแล แต่การเข้าถึงงบประมาณกองทุนภาครัฐนั้นยากมาก เพราะมีกฎกติกาเยอะ แต่ก็ได้รับงบจาก สสส.มาสนับสนุนทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งกลุ่มเด็กด้อยโอกาสสามารถแบ่งได้มากถึง 14 กลุ่ม อาทิ เด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าวเร่ร่อน แรงงานเด็ก เป็นต้น ซึ่งข้อมูลตรงนี้ภาครัฐเองก็ยังไม่เคยมี มีเพียงข้อมูลจากภาคเอกชนเท่านั้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น