xs
xsm
sm
md
lg

ดึงชาวบ้าน-เยาวชนร่วมปลูกป่าหวังฟื้นฟูความสมบูรณ์ธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย-สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ดึงชาวบ้าน-เยาวชนร่วมบวชป่า กุศโลบายที่อาศัยความเชื่อชาวไทยพุทธอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า รักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอุดมสมบูรณ์ใช้ประโยชน์อย่างพร้อมเพียง

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่บริเวณวัดป่าหนองดินดำ บ้านโป่งศรีโทน ต.เอราวัณ อ.เอราวัณ จ.เลย นายกิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเอราวัณ เป็นประธานจัดกิจกรรมบวชป่า ปลูกต้นไม้ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าภูกระแต ของสถาบันไทเลย เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาเอราวัณ ลย.ที่ 1 และชาวบ้านในหมู่บ้านกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม

นายกิตติพงษ์ ภาษี ผู้อำนวยการสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย กล่าวว่า สถาบันไทเลยเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่องการศึกษาการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากป่าภูกระแตของเครือข่ายเด็กและเยาวชนตำบลเอราวัณ เพื่อการฟื้นฟูป่าภูกระแต อ.เอราวัณ จ.เลย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าภูกระแต และการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง ทางวัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวบาน และเยาวชน

สถาบันไทเลย และชาวบ้านจึงได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ บวชป่า โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งอาหาร เพื่อยับยั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และเป็นกุศโลบายมิให้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาตัดไม้ทำลายป่าซึ่งต้นไม้ที่ผ่านการบวชแล้ว ชาวบ้านจะไม่กล้าแตะต้องเด็ดขาด เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่า ต้นไม้มีพญาต้นไม้อาศัยอยู่จะช่วยคุ้มครองรักษาต้นไม้ในบริเวณนั้น ป่าไม้ และต้นไม้ยังมีผลทำให้น้ำไม่แห้ง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้ป่าบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์

นายกิตติพงษ์ ระบุว่า ในชุมชนดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์จากป่าภูกระแต ทั้งที่อยู่ในเขตตำบลเอราวัณ จำนวน 15 หมู่บ้าน ชุมชนตำบลผาอินทร์แปลง จำนวน 5 หมู่บ้าน ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร ประกอบด้วยพืชที่เป็นอาหารกว่า 27 ชนิด สัตว์และแมลงที่เป็นอาหาร 34 ชนิด และยังมีการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร พืชสมุนไพรที่พบ 26 ชนิด

ชุมชนรอบป่าภูกระแตได้มีการจัดการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ เป็นการใช้ความเชื่อท้องถิ่น เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีการอบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบว่ามีชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไม่เห็นคุณค่า เช่น การหาของป่า หาอาหารป่า หาฟืน และสมุนไพร มีการเผาป่าล่าสัตว์ หรือการตัดต้นไม้ บางรายก็ขุดต้นผักหวานออกจากป่า ทำให้แหล่งอาหารตามธรรมชาติลดน้อยลง ทำให้พืชที่เป็นอาหารป่าลดน้อยลง ผักหวาน หน่อไม้ เห็ด สัตว์ป่าบางชนิดหายไปหรือจำนวนลดลง

เช่น กระแต หนู ลิง ไก่ ทำให้ต้องไปหาอาหารจากต่างถิ่น ซึ่งวิถีชีวิตการหาอยู่หากินเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนที่บริโภคอาหารพื้นบ้านลดลง ส่งผลไปถึงความมั่นคงทางอาหารลดลงด้วยเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น