กลายเป็นกระแสปกป้องดินแดนอันดามันที่จุดติดแล้วในวันนี้ เมื่อผู้คนกว่า 1,000 คนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประมง ชุมชนชาวบ้าน และผู้คนจากหลายจังหวัดในพื้นที่อันดามันซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือ
เป้าหมายในการแสดงเจตนารมณ์ (ช่วงต้นเดือนมิ.ย.58 ที่ จ.กระบี่) ต้องการบอกถึงทิศทางนโยบายสาธารณะเพื่อให้อันดามันก้าวไปสู่ภูมิภาคแห่งการพัฒนา ‘สีเขียว’ หมายความว่า การพัฒนาพื้นที่อันดามันนั้นจะต้องอยู่บนฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการพัฒนาที่ทุกคนออกมาร่วมเดินแสดงพลังในครั้งนี้
นอกจากเป็นการประกาศจุดยืนไม่ต้องการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะทำลายวิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ และการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการประกาศชัดถึงเป้าหมายการพัฒนาระดับภูมิภาคร่วมกันของจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยแต่ละจังหวัดก็มียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องซึ่งกันและกันจนกลายเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอันดามันร่วมกัน
ดังนั้นไม่ว่าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมใดที่สวนทางกับการพัฒนาสีเขียว ชาวอันดามันไม่ยอมให้ผ่าน!!!
“กิจการอันใดก็แล้วแต่ที่เข้ามาสู่พื้นที่อันดามันควรต้องยึดถือทิศทางนี้เป็นหลัก นั่นหมายถึงว่ากิจกรรมการพัฒนาที่ไม่นำไปสู่ทิศทางการพัฒนาสีเขียวนั้นไม่ควรที่จะตั้งอยู่บนพื้นที่อันดามัน ทั้งรัฐและเอกชนควรเคารพทิศทางการพัฒนาอันนี้ที่ได้ร่วมกันวางมาแล้วหลายปี เราเพียงปกป้องบ้านตัวเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม เราเพียงปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลานและคนทั้งโลก เราเพียงแสดงเจตนารมณ์ของเราให้รัฐบาลรับรู้ว่าอันดามันมีทิศทางการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว และรัฐบาลก็ประกาศสนับสนุนทิศทางการท่องเที่ยวตลอดมา” เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าวในคำประกาศเจตนารมณ์ขณะที่เดินรณรงค์
ส่วนทางออกของพลังงานที่ยั่งยืนและไม่ทำร้ายความสวยงามของสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวอย่างอันดามัน ก็คือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ชาวอันดามันได้เลือกแล้ว ตกเย็นหลังจากการเดินขบวน ชาวอันดามันได้รวมตัวกันต่อเนื่องในเวทีเสวนาเพื่อพูดคุยถึงปัญหาและทางออกของการคุกคามจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร่วมกันกับนักวิชาการหลายท่าน อาทิ อาจารย์ประสาท มีแต้ม, รศ.ดร.เรณูเวชรัชต์พิมล และอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได่ร่วมถกถึงเหตุผลที่ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อันดามันที่ภาครัฐต้องรับฟัง
"รัฐบาลเอื้ออำนวยแต่พลังงานสกปรก ทำให้พลังงานหมุนเวียนไม่ขยับสักที การเอาพลังงานที่สกปรกที่สุดมาใช้ในอันดามันเป็นเรื่องที่งี่เง่าและไร้สาระที่สุดในเมื่อทั่วโลกกำลังเลิกใช้ถ่านหิน แต่คุณกลับจะนำถ่านหินมาใช้ในพื้นที่ที่สวยที่สุด” อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าว
“การรวมตัวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินในครั้งนี้มีเจตนาที่จะยืนยันทิศทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น มิได้มีเจตนาจะรุกรานใคร เราเพียงปกป้องบ้านตัวเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม เราเพียงปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลานและให้คนทั้งโลก เราเพียงแสดงเจตนารมณ์ของเราให้รัฐบาลรับรู้ว่าอันดามันมีทิศทางการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว และรัฐบาลก็ประกาศสนับสนุนทิศทางการท่องเที่ยวตลอดมา
สำหรับทางออกด้านพลังงานไฟฟ้านั้นมิต้องถกเถียงกันว่าไฟฟ้าจะเอามาจากไหน เพราะทั้งโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสามารถทดแทนได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน สำหรับประเทศไทยนั้นมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่สิ่งที่เราพ่ายแพ้คือมาตรการสนับสนุนของรัฐที่ยังหาความจริงจังไม่ได้ เพียงรัฐสร้างมาตรการสนับสนุนออกมา เรื่องไฟฟ้าจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป”
ส่วนหนึ่งจากคำประกาศเจตนารมณ์อันดามันกำลังก้าวไปในทิศทางเดียวกัน สู่อนาคตสีเขียวที่จังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคต่างยึดถือเป็นเป้าหมายเส้นทางเดินร่วมกันมาตลอด
เสียงของประชาชนกว่า 1,000 เสียงในการเดินขบวนครั้งนี้ และอีกกว่า 46,000 เสียงจาก Change.org และ Protectkrabi.org ประกาศชัดเจนว่าพลังงานถ่านหินไม่ใช่ทางออกของพลังงานที่ยั่งยืน เราเชื่อว่าการผนึกพลังเสียงเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากว่ารัฐยังไม่ยอมเปิดรับฟังทุกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
อีกทั้งรัฐต้องตอบคำถามให้ได้ถึงความจำเป็นในการสำรองไฟฟ้าเกินขนาดมาตรฐานที่ตั้งไว้ถึง 40% จากแผน PDP 2015 (แผนแม่บทสําหรับการลงทุนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ) และจะส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น
ส่วนความจำเป็นที่แท้จริง ! ประเทศไทยของเราสมควรจะต้องแลกทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีคุณค่า วิถีชีวิตพี่น้องชาวประมง ความมั่นคงทางอาหารจากแหล่งธรรมชาติ ทะเลอันดามัน กระบี่ และอาจจะในอีกหลายพื้นที่ที่ต้องสูญเสียไป เพื่อแลกกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 9 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีก 2 โรง ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยไม่มีทางออกอื่นแล้วจริงหรือ? นั่นเป็นคำถามจากแนวร่วมที่ออกมาปกป้องทะเลอันดามัน
(อ้างอิงจาก : Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์)