xs
xsm
sm
md
lg

“ภาคประชาสังคมชุมพร” รวมตัวจี้ “กรมโยธาฯ” เลิกผังเมืองรวมเอื้อให้เกิดอุตฯ เต็มพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “เครือข่ายภาคประชาสังคมชุมพร” จี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกผังการจัดทำเมืองรวม จ.ชุมพร ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมประกาศใช้ เผยรับไม่ได้ต่อบัญชีไฟเขียวให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมนานาชนิดแจ้งเกิดได้ พร้อมยื่นข้อเสนอให้มีการจัดทำใหม่แบบให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
 
วันนี้ (14 ก.ค.) เครือข่ายภาคประชาสังคมชุมพร ได้รวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือให้แก่ นายกุมพล พฤฒิพฤกษ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.ชุมพร เพื่อขอให้ยกเลิกผังเมืองรวม จ.ชุมพร ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมประกาศ และให้มีการจัดทำขึ้นมาใหม่
 
ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการจัดทำผังเมืองรวม จ.ชุมพร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมดำเนินการประกาศเป็นกฎกระทรวงนั้น เครือข่ายภาคประชาชนชุมพรเห็นว่า ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมดังกล่าวมีสาระที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่กำหนดให้มีกิจกรรมอุตสาหกรรมที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์หลัก โดยเฉพาะในที่ดินประเภทชนบท และเกษตรกรรม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบ ขัดต่อวิสัยทัศน์ จ.ชุมพร ที่เน้นด้านเกษตรกรรม และการท่องเที่ยว
 
นอกจากนี้ พื้นที่ จ.ชุมพร มีบริเวณที่กำลังเตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ทำการศึกษาข้อมูลเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารด้วย ดังนั้น การกำหนดให้มีอุตสาหกรรมตามข้อกำหนดในผังเมืองรวม จ.ชุมพร ที่เตรียมประกาศเป็นกฎกระทรวง จึงจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ซึ่งเตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระทบต่อฐานทรัพยากรการเกษตร และการท่องเที่ยว อันเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของจังหวัด
 
นายมงคล หมวกคำ ตัวแทนของภาคประชาสังคม กล่าวว่า โยธาธิการและผังเมือง จ.ชุมพร ต้องยกเลิกผังเมืองรวมที่กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมประกาศ และให้มีการจัดทำใหม่เพื่อให้เป็นผังเมืองรวมจังหวัดที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน สอดคล้องต่อฐานทรัพยากรและวิสัยทัศน์ จ.ชุมพร และให้การจัดทำผังเมืองรวมเป็นไปเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในผังเมืองรวม จ.ชุมพร ที่คณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบแล้วเมื่อ พ.ศ.2550 นั้น พื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่ชนบทเกษตรกรรมกำหนดข้อห้ามจัดสรรเพื่ออุตสาหกรรม แต่ยังสามารถทำกิจกรรมตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงได้ โดยอุตสาหกรรมบางประเภทที่ให้ทำได้ ประกอบด้วย
 
- โรงงานประเภทที่ 42 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมีหรือวัตถุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
- โรงงานประเภทที่ 49 - โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
- โรงงานประเภทที่ 50 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปิโตรเลียม ถ่านหินหรือลิกไนต์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง
- โรงงานประเภทที่ 59 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับถลุง หลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้าในชั้นต้น
- โรงงานประเภทที่ 60 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับถลุงหรือผสม ทำให้บริสุทธิ์ หลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตโลหะในชั้นต้น ซึ่งมิใช่เหล็กหรือเหล็กกล้า
- โรงงานประเภทที่ 88 - โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า
- โรงงานประเภทที่ 89 - โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ หรือจำหน่ายก๊าซ
- โรงงานประเภทที่ 101 - โรงงานปรับคุณภาพของเสีย
- โรงงานประเภทที่ 105 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีลักษณะ และคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน
- โรงงานประเภทที่ 106 - โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
 
“จากประเภทอุตสาหกรรมที่กล่าวมา สามารถดำเนินการ หรือประกอบการในพื้นที่สีเขียวได้ทั้งหมด เป็นการมัดมือชกคนชุมพรเป็นอย่างมาก อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับผังเมืองรวม จ.ชุมพร แทบจะไม่มีเลย โดยเฉพาะประกาศแนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว ถ้าไม่มีการทบทวนผังเมืองรวม จ.ชุมพร หรือจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ คาดว่าชุมพรจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน” นายมงคล กล่าว







 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น