xs
xsm
sm
md
lg

“อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน” คนจะนะยัน! ขอกำหนดอนาคตบนฐานทรัพยากรด้วยตนเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวจะนะ ชุมชนคนสงขลา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน #3” ณ บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และกำหนดทิศทางการพัฒนาของชุมชนที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากรร่วมกัน

วานนี้ (27 ก.ย.) ชุมชนในพื้นที่ จ.สงขลา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน #3” ณ บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสารต่อสาธารณะถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา และอำเภอข้างเคียง ทั้งนี้ ยังมีการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ และผู้ร่วมงานในการแสดงเจตนารมณ์ และกำหนดทิศทางการพัฒนาของชุมชนที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากรร่วมกัน

รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ต้องการให้ชุมชนและภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการรักษา และอนุรักษ์ฐานทรัพยากรที่มี เพื่อให้ชุมชนได้หากินตลอดไปอย่างยั่งยืน

“การพัฒนาที่ผ่านมาไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตชุมชน ทั้งๆ ที่เรามีของดีอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่รักษา” นายรุ่งเรือง กล่าว
 

 
สำหรับกิจกรรม “อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน #3” นี้มีหลายเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายรุ่งเรือง เห็นว่าสามารถฉายภาพที่ชัดเจนของ อ.จะนะ ที่มี ‘เขา ป่า นา เล’ นกเขาชวา รวมถึงเห็นศักยภาพของพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าร่วมงานจากอำเภอข้างเคียงใน จ.สงขลา พัทลุงและสตูล

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า การพัฒนาของรัฐที่ผ่านมาละเลยชุมชน ซึ่งจากการทำงานขับเคลื่อนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพียงต้องมีความร่วมมือ และการสนับสนุน

นายกิตติภพ กล่าวต่อว่า เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องต่อศักยภาพพื้นที่ ได้แก่ การเป็นเมืองหลวงนกเขาชวาแห่งอาเซียน ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาสวนป่ายางสมุนไพร ฟื้นฟูนาอินทรีย์ 2,000 ไร่ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่แหล่งผลิตอาหารของคนสงขลา และอาเซียน
 

 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า ในปัจจุบันชุมชนมักถูกพัฒนาจากส่วนกลาง เช่น หลายพื้นที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อการส่งออก และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ นำไปสู่การบริโภคเกินขอบเขต สร้างหายนะในระยะยาว วิธีการที่ยั่งยืนที่สุดคือ การให้ชุมชนกำหนดวิถีการพัฒนาพึ่งตนเอง สามารถดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้

“การร่วมมือกันจัดกิจกรรม “อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน #3” เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งพื้นดิน ผืนป่า และทะเล นี่คือความยั่งยืน เราต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนิยามความยั่งยืนนี้ถูกนิยามโดยชาวบ้าน แตกต่างจากนิยามของนักวิชาการ ชุมชนต้องการความยั่งยืนบนฐานชีวิตของตนเอง หากเข้าใจกัน โลกก็จะเปลี่ยน” นพ.สุภัทร กล่าว

สำหรับศักยภาพการท่องเที่ยวนั้น นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และประธานงาน “อะโบ๊ะหม่ะ เลจะนะหรอยจ้าน #3” กล่าวว่า อ.จะนะ มีความน่าสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ตนได้เห็นโครงการที่ชุมชนและกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อรักษาทะเล และสัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะอาหารทะเลจากจะนะถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก
 

 
นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่รอบอำเภอต่างๆ เช่น การจัดเทศกาลอาหารทะเล แต่ยังอยู่ในช่วงการพูดคุยกัน สำหรับการท่องเที่ยวใน จ.สงขลา มีหลายแห่งที่สามารถพัฒนาเพื่อกระจายรายได้และนักท่องเที่ยวได้ เช่น อ.จะนะ อ.ระโนด ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ชูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพชาวบ้าน

หลายปีที่ผ่านมา อ.จะนะ ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ภายใต้การพัฒนาภาครัฐที่สอดคล้องต่อฐานความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ มีความกังวลจากหลากกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มคนเลี้ยงนกเขาที่เริ่มกังวลเรื่องอากาศที่ร้อนขึ้น กลุ่มประมงพื้นบ้านที่อยู่บนความไม่แน่นอนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กลุ่มคนทำนาเริ่มพบว่าบางแห่งไม่สามารถทำนาได้อย่างแต่ก่อน

จากการทำข้อมูลของชุมชนชายฝั่งจะนะ พบว่า มีเรือประมง 825 ลำ สามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของเรือเฉลี่ยวันละ 1,000 บาทต่อลำ การประมงได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชนผ่านการจับสัตว์น้ำ แพปลา แม่ค้าพ่อค้าในตลาด รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานอีก 57 ล้านบาทต่อปี สินค้าการประมงกระจายสู่ตลาดภายใน อ.จะนะ จังหวัดอื่นๆ และต่างประเทศ
 




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น