xs
xsm
sm
md
lg

โก่งคอขัน ประชัน “นกเขาชวาเสียง” ก้องกังวาน ผสานสามัคคีพี่น้องชาวใต้ ที่ “นราธิวาส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวาเสียง จัดขึ้นที่ จ.นราธิวาส
“นกเขาชวา” หรือ “นกเขาชวาเสียง” เป็นนกที่นิยมเลี้ยงกันมากทางภาคใต้ของประเทศไทยเรา ไม่ว่าจะเป็น จ.นราธิวาส ปัตตานี จ.ยะลา ด้วยเพราะความที่นกเขาชวาเสียงนั้นนอกจากจะมีรูปลักษณะที่สวยงามแล้ว นกเขาชวาเสียงยังมีเสียงขันอันน่าหลงใหล ไพเราะชวนฟัง ทำให้ผู้ที่เลี้ยงนั้นมีความสุข รู้สึกอิ่มเอิบใจ ยามที่ได้ยินนกเขาชวาเสียงโก่งคอขันอันก้องกังวาน

และด้วยความที่นกเขาชวาเสียงมีเสียงขันอันไพเราะเสนาะหู จึงทำให้เกิดการแข่งขันประชันเสียงของนกเขาชวาเสียงขึ้น ซึ่งชาวบ้านจะรวมตัวกันและนำนกเขาชวาเสียงที่ตัวเองเลี้ยงมาแข่งขันกัน แต่ไม่ใช่เพื่อความแพ้ชนะเท่านั้น เพราะการมารวมตัวแข่งขันนกเขาชวาเสียงนี้ ยังก่อให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นในหมู่พี่น้องชาวใต้
นกเขาชวาเสียงจำนวนมากที่มาร่วมแข่งขันประชันเสียงกันอย่างคึกคัก
วิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ นายกสมาคมนกเขาชวาเสียงภาคใต้ บอกให้รู้ถึงความเป็นมาของการแข่งขันประกวดนกเขาชวาเสียงทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รู้ว่า เริ่มมีการประกวดแข่งขันกันมานับเป็นร้อยปีแล้ว คนภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเป็นชีวิตจิตใจ เพราะมองว่านกเขาชวาเสียงนี้เป็นสิ่งที่ให้ลาภยศ สรรเสริญ ให้ประโยชน์ต่อผู้ที่เลี้ยง และที่นิยมเลี้ยงกันมากอีกประการก็เพราะมีการประกวด มาประชันเสียง โดยนำนกที่เสียงดีขันเข้ากติกานำมาแข่งขันกัน เริ่มตั้งแต่ตำบล หมู่บ้าน จนถึงระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระหว่างประเทศก็มีการประกวดกันมาก โดยเฉพาะชายแดนภาคใต้ไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์

“ค่านิยม ความนิยมในวงการนกเขาชวาเสียง เป็นค่านิยมที่พิเศษ คนที่เลี้ยงนกเขาชวาเสียงจะเป็นคนใจเย็น เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนซื่อตรง เป็นคนรักความสามัคคี รักความสงบ ทำให้เกิดแต่ในสิ่งที่ดีๆ อันนี้พิสูจน์ได้ แข่งขันกันมาเกือบร้อยปียังไม่เคยมีเรื่องปัญหาในสนามนกเขา ที่เกิดความทะเลาะเบาะแว้งกัน ในวงการนกเขาพูดกันจบก็คือจบ เป็นนิสัย เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ถ้าในหมู่บ้านไหนก็ตามถ้ามีนกดีก็จะร่วมกันชื่นชม ร่วมกันยินดี” วิชัย บอก พร้อมกับบอกถึงลักษณะของนกเขาชวาเสียงที่ดีไว้ว่า

“นกเขาชวาเสียงที่ดีต้องมีความเพียบพร้อมไปทุกประการ ขนเป็นระเบียบเรียบร้อย มีรูปลักษณ์สวยงาม สีขนอะไรทุกอย่างจะต้องไม่มีตำหนิ แต่ก็ไม่ได้แปลว่านกเขาชวาเสียงรูปลักษณ์ที่ดีจะขันดี ชนะการประกวด ถ้านกเขาชวาเสียงรูปลักษณ์ดี ขันดีด้วยก็สุดยอด เหมือนกับนักร้องที่รูปร่างดีๆ หน้าตาดีๆ สวยๆ ร้องดีด้วย เหมือนกันแบบนั้นเลย”
วิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ นายกสมาคมนกเขาชวาเสียงภาคใต้
หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพบรรยากาศการประกวดแข่งขันนกเขาชวาเสียงกันมาบ้าง ที่จะจัดเป็นสนามกว้างๆ และมีนกเขาขวาเสียงจำนวนมาก ถูกแขวนไว้บนเสาชักรอกขึ้นไปด้านบน ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วนกเขาชวาเสียงนี้ เขาทำการประกวดประชันเสียงกันอย่างไร เรื่องนี้คุณวิชัยได้ไขข้อสงสัยและอธิบายถึงการแข่งขันว่า

“การแข่งขันจะมีการแบ่งนกเป็น 4 โซน โซนหนึ่งใช้กรรมการประมาณ 12 คน กรรมการจะเข้าไปฟังนกขัน จะเรียกนกว่านกไม่เรียกว่าตัว เพราะเป็นการให้เกียรตินก นกทุกนกจะไม่ได้ขันพร้อมกันหมด นกใดที่ขันออกมาดีไม่ดี เขาก็จดไว้ก่อน รอบแรก จดหมายเลขของนกไว้ อย่างถ้ารอบแรกมี 10 นกที่ขันดีก็จะจดไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวกรรมการก็จะเวียนมาดูนกอีกรอบสอง ถ้ารอบสองไม่ขัน ก็ไปดูตัวอื่นอีก ถึงแม้นกจะมากกรรมการก็ทำได้ กรรมการหนึ่งคนสามารถตัดสินนกได้ 20 นก ถ้านกดีขันอยู่ตลอดเขาจะตัดสินเลยโดยสายตาว่านกยังขันอยู่ ถ้านกขันแน่เข้าไปอีกครั้ง แล้วนกขันไม่เสีย ขันไม่ผิดกติกายังขันอยู่อย่างนั้น กรรมการก็จะมาร่วมกันพิจารณาว่านกหมายเลขที่ขันดีนั้น เป็นนกที่ดีที่สุดในวันนี้ ในวินาทีนี้ที่เข้าแข่งขัน ก็มานั่งคุยกัน มีการโหวตเสียงกัน ลงมติกันว่านกตัวนี้ควรได้ที่หนึ่ง”
นกเขาชวาเสียงมีทั้งความสวยงามและเสียงอันไพเราะ
การแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวา จะเริ่มแข่งขันตั้งแต่เวลา 08.30 - 11.30 น. โดยกรรมการจะฟังเสียงนกที่เข้ามาแข่งขันพร้อมกับจดคะแนนไว้ แล้วเวลาประมาณ 11.30 น. กรรมการจะมารวมกลุ่มกัน มานั่งคัด มาตัดสินว่านกที่ได้คะแนนสูงนั้น ควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศหรือไม่ โดยจะยังมีผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 7-8 คน ลงไปช่วยกรรมการดู ช่วยกลั่นกรอง ว่าที่กรรมการบอกว่านกตัวนี้ควรจะได้ที่ 1 นั้นใช่หรือไม่ ซึ่งคนที่เชิญมาจะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่มีประสบการณ์ และเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นบุคคลที่คนในพื้นที่เชื่อถือ

“ความสามารถของกรรมการที่เราคัดมา อันดับแรกต้องเป็นบุคคลที่ผู้คนเชื่อถือยอมรับ ฟังนกเป็น มีความยุติธรรม เป็นคนดี เราคัดมาในตำบล ในหมู่บ้าน ในจังหวัด ต้องเป็นที่เชื่อถือกันในวงการ เหมือนอย่างกับกรรมการมวยที่นั่งจดอยู่ข้างล่างนั่นแหละเหมือนกัน” วิชัย อธิบาย
กรรมการฟังเสียงนกเขาชวาเสียงขันและให้คะแนน
สำหรับหลักเกณฑ์การตัดสินว่านกเขาชวาเสียงจะแข่งขันประกวดเสียงแพ้ชนะกันอย่างไรนั้น แบ่งหลักเกณฑ์ของนกเขาดังนี้ โดยแบ่งเป็น 4 รุ่นเสียง คือ รุ่นเสียงเล็กจะต้องมีเสียงเล็กเหมือนปีชวา รุ่นเสียงกลางต้องมีเสียงเหมือนกับโหม่งหลังตะลุง รุ่นเสียงใหญ่จะมีเสียงเหมือนกับฆ้องดัง และเสียงดาวรุ่งเป็นเหมือนเด็กขันน้อย จะขันแบบเสียงอะไรก็ได้ แต่ต้องขันไม่เกิน 10 คำขัน ซึ่งคำว่าคำขันนี้คือ จะต้องมีคำหน้า คำกลาง คำหลัง ปลายเสียง และมีจังหวะ มีลีลา นกจะต้องขันครบคำขันทุกพื้นเสียง โดยครบทั้งคำต้น ลีลา จังหวะ กลางเสียง ปลายเสียงต้องเด่นเพราะเหมือนกับที่คนเราพูดต้องมีหางเสียง และหางเสียงต้องไพเราะ มีความกังวาน

“ถ้านกที่นำมาประกวดในรุ่นเสียงใด แล้วเกิดนกขันออกมาแล้ว กรรมการฟังแล้วว่านกเป็นเสียงรุ่นอื่น ก็สามารถนำนกไปลงประกวดในรุ่นที่ตรงกับเสียงของนกได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และการฟังนกเขาขัน ก็เหมือนนักร้อง ถ้านักร้อง 5 คนมายืนร้องพร้อมกัน ก็ไม่ดีเท่ากันหรอก ก็ต้องแยกเอาไว้ ตัวนี้ดี ตัวนี้ไม่ได้ แล้วนกเขาเขาจะไม่ร้องพร้อมกัน บางนกมันมี 1 ในร้อย 1 ในพันที่มันฉลาด บางทีพอมันเห็นกรรมการมามันเริ่มขัน พอเขาเดินไปมันก็หยุดขัน มันฉลาด แต่มันน้อย แต่ว่าในกติกาจะบอกไว้ว่านกจะต้องขันไม่ต่ำกว่า 32 คำขันต่อหนึ่งรอบ แต่ถ้านกขันมากๆ ก็ย่อมจะเหนื่อย เพราะนกเขาจะขันแต่ละครั้งจะต้องใช้พลังงานเยอะ จะต้องตะเบ็งเสียงออกมา”
ลุงมะยูโซะ ดาโอ๊ะ ผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงและนำนกมาแข่งขันด้วย
“การแข่งขันนกเขาชวาเสียง เรื่องที่สำคัญคือ ความยุติธรรม การดำเนินการให้เป็นไปโดยกติกาในการแข่งขัน พี่น้องประชาชนเขาก็จะให้ความนิยม ให้ความเชื่อถือ แล้วก็นำนกเข้ามาแข่งขันมากขึ้นๆ” วิชัย บอก

การแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวาเสียงมีหลายสนามที่จัดการแข่งขันขึ้น อย่างเช่นที่ จ.นราธิวาสก็มีสนามการแข่งขันที่สำคัญคือ การแข่งขันประชันนกเขาชวาเสียง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นมาถึง 33 ครั้งแล้ว โดยในแต่ละครั้งที่จัดแข่งขันจะมีชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศนำนกเขาชวาเสียงของตัวเองมาเข้าร่วมแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก

ลุงมะยูโซะ ดาโอ๊ะ อายุ 65 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่เลี้ยงนกเขาชวาเสียง และก็นำนกเขาชวาเสียงมาร่วมแข่งขันประชันเสียงด้วยเสมอ บอกให้ฟังว่า นกเขาชวาเสียงนั้นที่บ้านเลี้ยงมานานมากแล้ว เลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ผลิตภัณฑ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงนกเขาชวาเสียงมีให้เลือกซื้อหา
“เล่นนกเขาชวาเสียงมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เสน่ห์ของนกเขาชวาเสียงอยู่ที่น้ำเสียง ตอนนี้ที่บ้านเพาะพันธุ์นกเขาชวาเสียงขาย มีนก 100 กว่าตัว เพาะพันธุ์ขายเป็นสายเลือดจากแชมป์ เคยเอานกเขาชวาเสียงมาแข่งขัน ก็ชนะบ้างแพ้บ้าง เคยชนะการแข่งขันได้ถ้วยพระราชทานพระเทพฯ ปี 2552 ประเภทรุ่นเสียงใหญ่” ลุงมะยูโซะบอกด้วยรอยยิ้ม แล้วยังได้บอกถึงนกเขาชวาเสียงที่ดีและการฝึกเลี้ยงตามแบบฉบับของลุงว่า

“นกเขาชวาที่ดี น้ำเสียงนำต้องดี ปลายเสียงต้องยาวๆ เราก็ต้องฝึกซ้อมเรื่อยๆ ไปซ้อมที่สนามเล็กๆ ก่อน โยงที่สนามเล็กๆ ก่อน แล้วก็บำรุงเขาให้มีความสมบูรณ์ อย่างเช่นให้กินถั่วเขียว และก็มีอีกหลายๆ อย่าง ให้กินถั่วเขียวเพื่อบำรุงกระดูก ส่วนน้ำเสียงของนกเราจะไปกะเกณฑ์อะไรไม่ได้อยู่ที่นกมันเอง แค่บำรุงให้เขาแข็งแรง”
คนใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงไว้ที่บ้าน
“เลี้ยงนกเขาชวาเสียง ถ้านกเขาออกลูกมาเราก็เอาไปขาย มีรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว แล้วก็ได้เพื่อนฝูง รักที่จะยังมาประกวดนกเขาต่อไปเรื่อยๆ” ลุงมะยูโซะทิ้งท้ายไว้ถึงการเลี้ยงนกเขาชวาเสียงที่ให้อะไรหลายอย่างกับตัวเอง

กล่าวได้ว่าการแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวาเสียงนั้นเป็นที่นิยมของคนภาคใต้มานาน และการแข่งขันก็ไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ แต่การแข่งขันนกเขาชวาเสียง ยังนำมาซึ่งสิ่งที่ดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้มาพบปะกันพูดคุยกันของเพื่อนฝูง เพื่อสัมพันธภาพที่ดี เป็นการเฟ้นหานกเขาชวาเสียงที่ดี ต่อยอดไปสู่การค้าขายนก ขายอาหารนก ขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงนกเขาชวาเสียง เป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ แล้วยังเป็นการหลอมรวมคนภาคใต้ให้เกิดความสามัคคีกัน โดยใช้การแข่งขันประชันนกเขาชวาเสียงเป็นสื่อส่งผ่านให้ทุกคนร่วมใจกันอนุรักษ์และสืบสานการแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวาเสียงที่ดีงามนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น