ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรสงขลา-สตูล แถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากกรณีโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเคมี ภายใต้ชื่อ “สะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” โดยกล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชน
วันนี้ (5 มิ.ย.) จากกำหนดการนโยบายโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล รถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมสองฝั่งทะเล อันดามัน-อ่าวไทย และอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเคมี ภายใต้ชื่อสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่มีความเชื่อว่าการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประเทศชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยความห่วงใย และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ หากไม่ฟังความรอบด้าน ไม่มีกลไกในการนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศชาติ และประชาชนอย่างแน่นอน
โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ไม่ใช่เพียงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลแรกที่ผลักดัน และนักการเมืองทุกรัฐบาลล้วนผลักดันโครงการ โดยอ้างความเจริญ เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ ประชาชนจะมีงานทำ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลทำไม่ได้เพราะไม่สามารถตอบปัญหาสำคัญๆ ของประชาชนในประเทศได้ เช่น
1.ความคุ้มค่า ความเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการ และที่สำคัญเสียงสะท้อนของนักวิชาการ และนักธุรกิจด้านลอจิสติกส์ระดับประเทศ กลับมองว่าต้นทุนค่าขนส่งสูง หากใช้บริการจากโครงการดังกล่าว
2.การตอบคำถามไม่ได้พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้ง 2 จังหวัด เช่น อุทยานฯ หมู่เกาะเภตรา แหล่งผลิตอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับพันล้านบาททั่วประเทศทั่วโลกมาเที่ยว และแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของ 2 ฝั่งทะเล ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลา สตูล แล้วยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ จากศักยภาพดังกล่าวสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท หากมีการส่งเสริม การดูแลเหมือนอุตสาหกรรมก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในประเทศได้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน ไม่ใช่แค่นักลงทุนบางกลุ่มอย่างแน่นอน
3.การพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เป็นการทำลายจิตใจของคนสงขลา สตูล ทำลายหลักการเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
4.เราจะต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารสองฝั่งทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชุมชน แหล่งโปรตีนที่ทุกคนเข้าถึงได้
5.เราจะต้องสูญเสียทรัพยากรมากมาย เช่น การระเบิดภูเขาเพื่อมาถมทะเล การดูดทราย เกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง สูญเสียทรัพยากรป่าไม้จากการทำเขื่อน เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
6.เราจะต้องสูญเสียแหล่งผลิตนกเขาชวาเสียงของอาเซียน ซึ่งระดับอาเซียนยอมรับว่า สงขลาเป็นเมืองหลวงนกเขาแห่งอาเซียน
7.เกิดมลพิษ ทำลายสุขภาพจิต สุขภาพกายของคนในชุมชนด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลที่ผ่านมาจึงดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้ การประกาศที่จะดำเนินโครงการของนายกรัฐมนตรี โดยขาดการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่เข้าใจคุณค่า และฐานทรัพยากรของแผ่นดิน
พวกเราจึงมีข้อเสนอต่อท่านดังนี้
1.ขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าว และรับฟังความคิดเห็น รับฟังข้อมูล ทั้งภาควิชาการ และภาคประชาชน
2.เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทั้ง 2 จังหวัด ได้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และภูมิปัญญาของชุมชนได้
3.สร้างกลไกขับเคลื่อนพัฒนาในระดับจังหวัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย
4.จากข้อเสนอดังกล่าว พวกเรามีเจตนาที่จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้า เพื่อจะทำให้เกิดความสุข ความเจริญอย่างยั่งยืนในสังคม
ด้วยความเคารพ
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรสงขลา-สตูล
3 มิถุนายน 2558