นายกรัฐมนตรีพบนักธุรกิจและแพทย์ไทยในนิวยอร์ก ให้สถานทูตรับเรื่องร้องเรียน ยันส่งเสริมการลงทุน ด้านพ่อค้าหนุนไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล ผลิตชิ้นส่วนและเครื่องมือแพทย์ ส่งออกสมุนไพร มะพร้าว เฟอร์นิเจอร์ ก่อนคุยทวิภาคีรองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ส่งเสริมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
วานนี้ (29 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐอเมริกา ภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือกับนักธุรกิจและแพทย์ไทยในนครนิวยอร์ก และรัฐใกล้เคียง เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้นำเข้าผลิตภัณท์อาหารไทย เครื่องดื่ม กล้วยไม้ ผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีเครื่องประดับ ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจน้ำหอมและธุรกิจเฟอร์นิเจอร์
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การมาประชุมสหประชาชาติครั้งนี้เพื่อทำหน้าที่คนไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการต่างๆ ทั้งการแก้ไขปัญหาด้านประมง ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ อำนวยความสะดวกจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบร็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อลดขั้นตอนราชการ รวมทั้งตั้งศูนย์ดำรงธรรมเพื่อรับคำร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ต่างประเทศ คือ สถานเอกอัครราชทูต
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลดำเนินการปรับสัดส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี จัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้นักธุรกิจเชื่อมโยงกับธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยด้วย จากนั้นนักธุรกิจได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล หรือ Medical Hub เพื่อสนับสนุนให้คนอเมริกันเดินทางมารักษาตัวที่ประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนและเครื่องมือแพทย์และอวัยวะเทียม เนื่องจากไทยมีศักยภาพ สนับสนุนการส่งออกสมุนไพรไทย ส่งเสริมการปลูกมะพร้าว นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยยังได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วย
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับ พ.อ.พิเศษ เทโอโดโร โอเบียง อึนเกมา อึมบาโซโก (H.E. Brigadier General Teodoro Obiang Nguema Mbasogo) รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและอิเควทอเรียลกินีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมาตลอดระยะเวลา 24 ปี และการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2013 ถือเป็นการเยือนระดับสูงระหว่างกันเป็นครั้งแรก ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างพื้นฐานสำหรับความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกันในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ส่งเสริมความร่วมมือในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) ซึ่งไทยให้ความสำคัญและยืนยันเจตนารมณ์ในการสานต่อนโยบายที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยใช้หลักการความเท่าเทียม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเน้นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของแอฟริกาในด้านความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การพัฒนาบุคลากร และการสร้างงานและรายได้ ให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยพร้อมส่งเสริมการค้าข้าว และจัดตั้งกลไกทางเศรษฐกิจ เช่น จัดตั้งสภาธุรกิจ การเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ โดยสนับสนุนซึ่งกันในเวทีระหว่างประเทศ และไทยยังยินดีให้ความร่วมมือทางวิชาการกับอิเควทอเรียลกินีในสาขาต่างๆ ที่ไทยเชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์