xs
xsm
sm
md
lg

"ฮิโรยูกิ"อำลาตำแหน่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (18 มิ.ย.) ดร. ฮิโรยูกิ โคนูมะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญการสนทนา ดังนี้
นายกรัฐมนตรี แสดงความขอบคุณ นายฮิโรยูกิ ที่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเป็นอย่างดีตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยนานถึง16 ปี พร้อมชื่นชมผลงานในด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร โภชนาการ และเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของนายฮิโรยูกิ ตลอดเวลากว่า 5 ปี ของการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO และผู้แทนประจำภูมิภาคนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับแนวทางกับ FAO เนื่องจากไทยเชื่อว่า ความมั่นคงทางอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เนื่องจากไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรที่เหมาะแก่การเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ ก่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้และความเจริญสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นไปยังประชาคมโลก ผ่าน FAO โดยหวังให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการการยกระดับคุณภาพของสินค้าเกษตรกรโดยเฉพาะข้าว ซึ่งที่ผ่านมาราคาของสินค้าเกษตรตกต่ำมาระยะหนึ่ง ซึ่งล้วนเกี่ยวพันถึงปัญหาสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความยากจนในประเทศที่มีรายได้ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตร นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญในการพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของปัญหาและความขัดแย้งทั้งหมดในโลกปัจจุบันนี้
นายฮิโรยูกิ แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือกับ FAO ในด้านความมั่นคงทางอาหาร ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรรายย่อย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และให้ความช่วยเหลือทางอาหาร และการฟื้นฟูเกษตรกรรมกับประเทศที่ประสบภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านความร่วมมือทวิภาคี และผ่านกรอบ World Food Programme (WFP) นอกจากนี้ทาง FAO มีความตั้งใจในการนำแนวทางการจัดการของประเทศไทยตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ เพื่อนำไปปรับใช้ในประเทศที่ประสบปัญหาในการรับมือกภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมชื่นชมว่าไทยเป็นตัวอย่างดีที่ของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถลดจำนวนประชากรที่ขาดสารอาหารได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุม World Food Summit เมื่อปี ๒๕๓๙ และลดสัดส่วนของประชากรที่ขาดสารอาหารได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals –MDGs) โดยสามารถลดจำนวนประชากรผู้ขาดสารอาหารได้ครึ่งหนึ่งได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นการบรรลุเป้าหมายก่อนปีที่กำหนดไว้ในปี 2558 ถึง 3 ปี
ทั้งสองฝ่ายยินดีแบ่งปันประสบการณ์เพื่อประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในการบรรลุวาระการพัฒนาภายหลัง ค.ศ. 2015 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเป้าหมายที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ได้แก่ การขจัดความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงด้านอาหารและการมีโภชนาการที่ดีขึ้น รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น