xs
xsm
sm
md
lg

กินเจเมนูซ้ำ มาก บ่อย เสี่ยงแพ้อาหาร อาการรุนแรงอาจถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอธรรมศาสตร์ เตือน “กินเจ” เสี่ยงแพ้อาหาร เหตุกินอาหารเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก ชี้ คนแพ้อาหารอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงแพ้อาหารเจ พบคนแพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย 15 - 30% แนะวิธีสังเกตอาการแพ้ หวั่นแพ้รุนแรงเกิดหลายอาการ ส่งผลช็อก เสียชีวิต

รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์ ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ธัญพืชพวกถั่ว งา ผักและผลไม้ 5 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดง เขียว เหลือง โดยทั่วไปการรับประทานเจต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุและสภาพร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อาหารเจอาจมีผลต่อภาวะภูมิแพ้อาหารได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่าย หรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก เป็นเวลานานก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ แม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อน โดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว โดยพบผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยร้อยละ 15 - 30 นอกจากนี้ ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรระวังการบริโภคอาหารเจในผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้อาหารโดยเฉพาะผู้ที่แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลีในกรณีต้องการบริโภคอาหารเจ อาจเลี่ยงไปบริโภคอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ที่ไม่ก่อให้แพ้และได้พลังงานเช่นกัน

ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจสำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหาร คือ กรณีที่แพ้นมวัวควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลือง เพราะอาจพบว่าแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยได้ โดยอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ หอยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจอย่างโปรตีนเกษตร (ของพวกนี้ทำจากถั่วเหลืองแทบทั้งสิ้น) เป็นต้น สำหรับอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม ได้แก่ อาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบอย่างพวก ขนมปัง เส้นพาสต้าต่าง ๆ เค้ก ขนมอบ เบเกอรีต่าง ๆ อาหารชุบแป้งทอด หรือเกล็ดขนมปัง เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระวังในการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร” รศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

รศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า วิธีสังเกตว่าตนเองแพ้อาหารหรือไม่ ดูได้จาก 1. อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นเล็ก ๆ นูนแดงคัน บวม คล้ายลมพิษ ซึ่งมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทาน นอกจากนี้ อาจมีผื่นอีกประเภทที่แดง คัน แห้ง ลอก ซึ่งในเด็กเล็กมักมีจะมีผื่นที่แก้ม ข้อศอก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับ ซึ่งผื่นลักษณะนี้มักจะเป็นภายหลังได้รับอาหารชนิดนั้นเป็นเวลาหลายวันถึงสัปดาห์ 2. อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องแบบบิด 3. อาการระบบทางหายใจ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม หายใจไม่สะดวก โดยข้อควรระวังคือ หากเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหลายระบบร่วมกัน รวมถึงระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งหากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรงอาจมีผลทำให้ผู้ป่วยช็อก หมดสติ เขียว และเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากไม่มั่นใจว่าแพ้อาหารชนิดไหน ก่อนบริโภคควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดว่ามีภาวะแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น