เด็กไทยป่วยขาด “วิตามินซี” มากขึ้น เหตุกินนมกล่อง UHT ประจำ มีวิตามินซีน้อย แต่ไม่กินผักผลไม้อื่น เสี่ยงกระทบพัฒนาการเด็กรุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ แนะผู้ปกครองปรับพฤติกรรมการกินลูก
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิตามินซีเป็นวิตามินละลายน้ำ และเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนในเนื้อเยื่อของกระดูกฟัน เหงือก และหลอดเลือด ซึ่งในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง จำเป็นต้องได้รับวิตามีนซีจากสารอาหาร วิตามินซีมีอยู่มากในอาหารจำพวกผักสดและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว โดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินซีอย่างน้อยวันละ 50 - 100 มิลลิกรัม กรณีเด็กที่เลือกกิน กินอาหารยาก กินข้าวน้อย ไม่กินผักผลไม้ที่มีวิตามินซี และกินนมกล่อง UHT เป็นประจำก็อาจทำให้เกิดภาวะเด็กขาดวิตามินซี ซึ่งจะส่งผลพัฒนาการของเด็กและทำให้เด็กดูซีด บวมฉุ เลือดออกง่าย อาจเป็นจ้ำ ๆ ตามแขนขา รอบตา หรือมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่ค่อยมีแรง อาจหงุดหงิดง่าย ร้องกวน ผิวหนังแห้ง ผมบาง ปวดขา เข่า ไม่ค่อยขยับ เวลานั่งจะงอข้อสะโพก ข้อเข่า เป็นต้น
“พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก จะต้องฝึกให้เด็กกินอาหารที่หลากหลายมีประโยชน์เหมาะสมตามวัยและครบทั้ง 5 หมู่ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักคิดว่านมเป็นตัวแทนอาหารอื่น ๆ หากเด็กกินนมมาก ๆ จะช่วยให้เด็กมีรูปร่างสูงใหญ่ บางครอบครัวจึงเลือกซื้อนมกล่องเก็บตุนเพื่อให้ลูกได้หยิบกินได้สะดวก จนลืมคิดถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขาดภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา” นพ.ณรงค์ กล่าว
นพ.สมจิตร ศรีอุดมขจร แพทย์ประจำศูนย์คลินิกสมองและระบบประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคขาดวิตามินซี มีสถิติเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยเด็กส่วนมากมักมีประวัติการกินนมวัวและกินนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง UHT เป็นประจำ โดยไม่ทานอาหารอื่นร่วมด้วย ซึ่งในนมกล่องมีปริมาณวิตามินซีน้อยมากเพียง 1.5 มิลลิกรัม/100 ซีซี และเมื่อผ่านกระบวนการผลิตความร้อน จะทำให้วิตามินซีสูญเสียไปอีกมาก ในขณะที่นมแม่มีวิตามินซีสูงถึง 4 มิลลิกรัม/100 ซีซี หากแม่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอเด็กก็จะมีโอกาสขาดวิตามินซีได้เช่นกัน ดังนั้น แม่ที่ให้นมลูกควรทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำ พริกหวาน ส้ม มะนาว ฝรั่ง สับปะรด มะม่วง มะละกอ เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณวิตามินซีที่เหมาะสม
“ในระยะ 6 เดือนแรก ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น หลังอายุ 6 เดือน ต้องเริ่มฝึกให้เด็กทานอาหารอื่นครบ 5 หมู่ ตามวัยควบคู่กับนมแม่ หากเด็กเป็นโรคขาดวิตามินซีควรได้รับวิตามินซี วันละ 300 มิลลิกรัม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในเวลา 1 - 2 อาทิตย์ และกินวิตามินเสริมอีก 2 - 3 เดือน อย่างไรก็ดี โรคขาดวิตามินซีเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้เพียงพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูให้ความสำคัญกับอาหารของเด็ก ปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักสด ผลไม้สด เป็นประจำก็จะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคขาดวิตามินซีรวมถึงโรคอื่น ๆ ด้วย” นพ.สมจิตร กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่