xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ “เบี้ยยังชีพ” 600 บาทไม่พอ วอนรัฐเปลี่ยนเป็นออมเพื่อบำนาญอัตราสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลสำรวจชี้ ปชช. 65% เตรียมแผนรองรับวัยเกษียณ หวัง “เบี้ยยังชีพ - ลูกหลาน - เงินเก็บ - บำนาญ” ช่วยจุนเจือยามเฒ่า กังวล “สุขภาพ - คนดูแล” หลังอายุ 60 ปี วอนรัฐปรับเบี้ยยังชีพเป็นระบบออมเพื่อบำนาญ มากกว่า 600 บาทต่อเดือน เหตุไม่เพียงพอกับการยังชีพ
แฟ้มภาพ
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความมั่นคงในชีวิตเมื่อสูงวัย โดยเก็บข้อมูลจากประชาชน 3 กลุ่มอายุ คือ อายุต่ำกว่า 25 ปี อายุ 25 - 59 ปี และ อายุ 60 ปีขึ้นไป จาก 4 ภูมิภาค จำนวน 953 คน ระหว่าง ส.ค. - ก.ย. ที่ผ่านมา พบประชาชนร้อยละ 65 มีการวางแผนด้านรายได้เมื่ออายุ 60 ปี ส่วนอีกร้อยละ 35 ไม่มีการวางแผน โดยคนที่วางแผนด้านรายได้นั้น ร้อยละ 25 คาดว่า จะมีรายได้จากเบี้ยยังชีพ ร้อยละ 21 จากลูกหลาน ร้อยละ 16 จากเงินเก็บออม ร้อยละ 15 จากการทำงาน และ ร้อยละ 4 จากบำเหน็จบำนาญทั้งส่วนข้าราชการและประกันสังคม ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ที่คิดเรื่องการออมเพื่อบำนาญ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการจัดระบบบำนาญแห่งชาติ ที่เสนอให้มีการออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า เมื่อถามเรื่องความกังวลใจที่สุดตอนอายุ 60 ปี พบว่า ร้อยละ 25 กังวลเรื่องสุขภาพมากที่สุด ร้อยละ 21 กังวลเรื่องรายได้ ร้อยละ 19 กังวลเรื่องคนดูแล ร้อยละ 18 กังวลเรื่องที่อยู่อาศัย ร้อยละ 17 เรื่องหนี้สิน โดยปัญหาสุขภาพจะเกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้จากการทำงาน เพราะหากเจ็บป่วยอาจทำงานไม่ได้ทำให้ขาดรายได้ โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 67 คาดหวังให้รัฐมีระบบบำนาญพื้นฐานที่ครอบคลุมทุกคน โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 34 คิดว่าหลังอายุ 60 ปี จะมีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่อเดือนอยู่ระหว่าง 6,000 - 10,000 บาท รองลงมาคือ 3,000 - 6,000 บาท

ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนคาดหวังให้รัฐปรับเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่า 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการยังชีพในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยควรใกล้เคียง 3,000 บาทต่อเดือน รัฐจำเป็นต้องกำกับให้ระบบบำนาญทั้งหมดเอื้อต่อประชากรทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มวัย โดยมีคณะกรรมการกำกับให้แต่ละชั้นของระบบบำนาญมีความคล่องตัว มีความเป็นธรรม และมีการติดตามตรวจสอบกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในการบริหารจัดการ เป็นต้น” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

น.ส.จุฑาเนตร สาสดี เยาวชนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ หนึ่งในผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการสำรวจ กล่าวว่า การจะสร้างความมั่นคงเมื่อสูงวัยได้นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มีการวางแผนออมเงินสะสมเพื่อวันข้างหน้า แต่รัฐก็ควรที่จะจัดระบบบำนาญพื้นฐานไว้เป็นฐานรองรับสำหรับทุกคน โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และปรับอัตราเงินรายเดือนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต วันเยาวชนปีนี้จึงอยากบอกให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ควรเริ่มมีการเตรียมพร้อมและร่วมกันใส่ใจสังคมไทยที่เป็นสังคมสูงวัยแล้ว ให้มีการจัดระบบบำนาญแห่งชาติสำหรับทุกคน เพื่อผู้สูงวัยในวันนี้และคนสูงวัยในอนาคตด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น