xs
xsm
sm
md
lg

อุดรโมเดลลดท้องวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สสส. ชู อุดรโมเดล ลดท้องในวัยรุ่นได้ 43% สำสำเร็จใน 10 อำเภอ เล็งเพิ่มช่องทางปรึกษาผ่านแชตไลน์ เฟซบุ๊ก ตั้งเป้าลดปัญหาครอบคลุมทั้งจังหวัด

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานสรุปบทเรียนโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ จ.อุดรธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สสส. มีการดำเนินงานที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. สนับสนุนการทำงานใน 21 จังหวัด เชื่อมโยงการทำงานในระดับอำเภอและตำบล 2. สนับสนุนการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาใน 34 จังหวัดในระยะยาว เพื่อให้วัยรุ่นในสถานศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษา นำไปสู่การมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมและการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย สำหรับการดำเนินงานในจังหวัดอุดรธานี ครอบคลุม 57 ตำบล จาก 10 อำเภอ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถพัฒนาเป็น “อุดรโมเดล” เป็นแนวทางการทำงานให้จังหวัดอื่น ๆ ต่อไปได้ การดำเนินงานมีการสื่อสารความรู้ ข้อมูลสุขภาวะทางเพศกับคนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ทุกหมู่บ้าน สนับสนุนถุงยางอนามัย และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยการทำงาน

นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินงานจัดการปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ประสบความสำเร็จเป็นอุดรโมเดลสถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจนจาก 3,521 คน ในปี 2556 เหลือเพียง 1,988 คน ในปี 2558 ลดลงร้อยละ 43 และพฤติกรรมของเยาวชนมีทิศทางที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำความเข้าใจ และวางแผนยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขครอบคลุมทุกเหตุปัจจัย คนในพื้นที่เข้าถึงบริการให้คำปรึกษา ทั้งแบบพบด้วยตนเอง สื่อสารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊กมากกว่า 10,000 รายต่อปี และมีการวางแผนครอบครัวและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเตรียมขยายการดำเนินการให้ครบทุกอำเภอทั้งจังหวัดอุดรธานีต่อไป

พ.อ.อ.แพง จันเต ปลัดองค์การบริารส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า จุดสำคัญของการดำเนินงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ แก้ปัญหาการท้องไม่พร้อม คือ การสร้างแกนนำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในท้องถิ่นที่เข้มแข็งและเข้าใจ ต้องเริ่มจากการปรับวิธีคิดให้เข้าใจเยาวชนอย่างแท้จริง จากนั้นพัฒนาและบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมและเพิ่มจุดบริการสุขภาพ ร่วมกับ รพ.สต. และเครือข่ายชุมชม โดยต่อไปจะมีการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาปรับใช้ในกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น เปิดเวทีทำเข้าใจชุมชนปรับทัศนคติการมีครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย เป็นต้น

นายธนากร หอมกระชาย นักเรียนโรงเรียนช่างกลอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีเพื่อนเยาวชนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลการป้องกันการตั้งครรภ์ และไม่เข้าใจความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จนกระทั่ง สสส. เข้ามาสนับสนุนการทำงาน ทำให้ทีมเยาวชนในจังหวัดได้ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ เช่น รณรงค์ในตลาดนัด ชุมชน เปิดพื้นที่ให้นักเรียนมีเวทีแสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมแสดงละครสอดแทรกเรื่องคุมกำเนิด การป้องกันด้วยถุงยางอนามัย และการทำค่ายกิจกรรมเยาวชนดูแลด้านสุขภาวะทางเพศอายุ 12 - 24 ปี ตั้งแต่ 50 - 150 คน จากหลายพื้นที่ทั่วจังหวัด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ส่วนตัวมองว่าเป็นกิจกรรมที่ดี อยากให้มีต่อไป เพราะเชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่ยังไม่รู้เรื่องสุขภาวะทางเพศที่เหมาะสม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น