พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๖๗ เพื่อทรงห้ามมิให้มีการล่าสัตว์ในบริเวณนี้ ซึ่งมีสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเนื้อทราย จนได้ชื่อว่า “ห้วยทราย”
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์ ต่อมามีราษฎรอพยพเข้ามาอาศัยทำกิน เกิดการบุกรุกแผ้วถางป่า ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่สับปะรด และใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี ส่งผลให้ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึง ๔๐ ปี ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ หน้าดินเกิดการชะล้างพังทลายค่อนข้างสูง เกิดความเสื่อมโทรม พืชพรรณไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ ทรงพบเห็นสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ได้มีรับสั่งตอนหนึ่งว่า
“หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”
และในวันนั้นได้พระราชทานพระราชดำริแก่หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร.ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิม และราษฎรที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษาป่า และรู้จักใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่ทำลายป่า ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟป่า ให้ราษฎรมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้อยู่รอดและธรรมชาติอยู่รอดด้วย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยมีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ถึงวันนี้หลังจากเวลาผ่านไป ๓๓ ปี พื้นที่เกือบเป็นทะเลทรายก็กลับกลายมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แม้ยังไม่สมบูรณ์เหมือนเก่า แต่ก็มีความชุ่มชื้นและปริมาณฝนมากขึ้น รวมทั้งสัตว์ต่างๆที่เคยละทิ้งไปอยู่ที่อื่นได้กลับคืนเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีก ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง สมตามพระราชดำริทุกประการ
ทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย ๓ แนวทางหลัก คือ
๑. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒. การพัฒนาแหล่งน้ำ
๓. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร
ในแนวทางแรก ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกเป็นอาวุธสำคัญในการพัฒนา
สำหรับในพื้นที่ลาดชันรวมทั้งในบริเวณร่องน้ำ ให้ปลูกหญ้าแฝกในแนวขวาง กอชิดติดกัน เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำที่ชะล้างหน้าดิน แนวของหญ้าแฝกจะช่วยเก็บกักตะกอนให้เกิดหน้าดินขึ้นมาใหม่ จากนั้นจึงทำการปลูกป่าเสริมลงไป
ในดินที่แข็งเป็นดาน ให้ทำการขุดเจาะเป็นหลุม นำดินที่มีธาตุอาหารพืชมาใส่ แล้วจึงปลูกหญ้าแฝก รดน้ำให้ความชุ่มชื้น เมื่อหญ้าแฝกตั้งตัวได้ รากซึ่งมีความแข็งแรง จะสามารถชอนไชลงไปในแนวดิ่ง เจาะดินที่แข็งเป็นดาน เมื่อหญ้าแฝกตายและย่อยสลาย จะเกิดมีช่องว่างที่รากเจาะไว้ น้ำและอากาศจึงซึมลงสู่ใต้ดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น จากนั้นให้นำพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง เช่นไม้ดั้งเดิมที่เคยมีในพื้นที่มาปลูกเสริม ส่วนใบของหญ้าแฝกที่แก่ ก็ตัดนำมาคลุมผิวดินตามโคนต้นไม้ ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ และย่อยสลายเป็นอาหารของพืชต่อไป
ในด้านน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นกระจายในพื้นที่ให้มาก โดยศูนย์ฯได้สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว ที่เรียกกันว่า Check Dam คือการนำวัสดุตามธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ มาใช้ปิดกั้นทางน้ำ ร่องเขา และพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขา เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และช่วยดักตะกอนไว้ ไม่ให้ไหลลงสู่ตอนล่าง ในระยะเวลาหนึ่งเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้และตะกอนดิน จะอุดตามช่องและร่องของวัสดุที่ใช้ทำฝาย จนสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ และซึมลงสู่ใต้ดิน ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าฟื้นคืนสู่ความเขียวชอุ่มขึ้น
อีกวิธีหนึ่งในการให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน คือการทำคันดิน ซึ่งทำได้ ๒ แบบ คือ คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ
คันดินกั้นน้ำคือการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียงในบริเวณที่ราบเชิงเขา และขุดเหนือคันดินให้เป็นแอ่งตามแนวคันดิน แอ่งน้ำขนาดเล็กนี้จะช่วยเก็บกักน้ำไว้ให้ไหลซึมลงดิน ช่วยสร้างป่าให้เกิดใหม่ขึ้น
ส่วนคันดินเบนน้ำ คือการขุดดินให้เป็นร่อง หรือยกระดับคันดินให้สูงขึ้น โดยสร้างเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้าน เมื่อมีฝนตกและมีปริมาณมาก น้ำจะไหลไปตามแนวคันดินเบนน้ำได้ทั้งสองด้าน กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ทั้งคันดินนี้ยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
เมื่อจัดการระบบน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นพอควรแล้ว ก็จัดการลูกป่า ๓ อย่าง ซึ่งจะได้ประโยชน์ถึง ๔ อย่าง คือ
ป่าอย่างที่ ๑ คือ ปลูกไม้โตเร็ว เพื่อให้ใบที่ร่วงหล่นย่อยสลายสะสมสร้างหน้าดินขึ้นมาใหม่ และยังใช้เนื้อไม้เป็นเชื้อเพลิงได้
ป่าอย่างที่ ๒ คือปลูกไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เพราะเห็นแล้วว่าทนต่อสภาพแห้งแล้งของพื้นที่ได้อย่างดี
ป่าอย่างที่ ๓ คือปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม้ผล ซึ่งจะเป็นไม้ยังชีพต่อไป
ส่วนประโยชน์อย่างที่ ๔ เป็นผลพลอยได้จากการปลูกป่า ๓ อย่างนี้ ก็คือจะเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ เกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศขึ้น
การอนุรักษ์ดินนั้น เกิดจากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน แล้วย่อยสลายกลายเป็นดินใหม่ ส่วนการสร้างความชุ่มชื้นเกิดจากร่มเงาของต้นไม้ จะช่วยลดการระเหยของน้ำในดิน ซึ่งเป็นการสร้างป่าแบบผสมผสานได้อย่างกลมกลืน และเกิดความสมดุลในระบบนิเวศป่าไม้ได้เร็วขึ้น
ในศูนย์ฯยังใช้ระบบ “ภูเขาป่า” ตามพระราชดำริ คือสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ส่งขึ้นไปใส่ถังพักน้ำที่ก่อสร้างไว้บนภูเขา ให้น้ำล้นและปล่อยให้ไหลกระจายไปตามพื้นที่โดยรอบถัง แล้วปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ ไม้ที่ปลูกเป็นไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ และไม้ดั้งเดิม ซึ่งวิธีการปลูกป่าแบบให้น้ำนี้ มีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง
อีกวิธีหนึ่ง ทรงเรียกว่า “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการสร้างระบบภูเขาป่า โดยพืชพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตจนผลิดอกออกผล เมล็ดหรือผลที่แก่จะร่วงหล่น หรือเมื่อสัตว์ได้กินผลไปถ่ายไว้ในพื้นที่ต่างๆ เมื่อได้รับสภาพที่เหมาะสม ก็จะงอกและเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป หรือในกรณีที่ป่าไม่ถูกบุกรุกรบกวนอีก ถูกทอดทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ในระยะเวลาหนึ่ง ป่าก็สามารถฟื้นคืนสภาพขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปปลูก
ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ได้ใช้วิธีการฟื้นฟูธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตามแนวพระราชดำริทุกรูปแบบ รวมทั้งกระจายน้ำจากฝายแม้ว โดยใช้ท่อไม้ไผ่ สายยาง หรือท่อ PVC เจาะรู กระจายน้ำออกไปให้ความชุ่มชื้นอย่างกว้างขวาง เรียกว่า “ระบบป่าเปียก” สภาพป่าในพื้นที่ของโครงการจึงฟื้นคืนสภาพอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยหลักการของกฎธรรมชาติที่แยบยล เรียบง่ายและประหยัด แต่ได้ผลกลับมาอย่างมหาศาล ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“...ทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...”
ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับโครงการ ซึ่งน้ำมีความสำคัญต่อพืชเป็นอย่างมาก โครงการชลประทานเพชรบุรี ได้สนองแนวพระราชดำริจัดทำระบบเครือข่ายน้ำที่เรียกว่า “อ่างพวง” โดยสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จำนวน ๔ อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำเขากระปุก อ่างเก็บน้ำห้วยทราย และอ่างเก็บน้ำหนองไทร ในแต่ละอ่างมีขนาดและความจุไม่เท่ากัน การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบน สามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ โดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างถึงกัน การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราษฎรสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างพอเพียง
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริทรงเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการเพาะปลูกพืชทางการเกษตรควบคู่กับการปลูกป่า จัดระเบียบราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่าโดยไม่ต้องบุกรุกทำลายป่า
เนื่องจากราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมและราษฎรที่อพยพเข้ามาใหม่ มีทั้งไทยพุทธและมุสลิม ทางศูนย์ฯจึงให้ตั้งหมู่บ้านแยกจากกัน โดยมีภูเขากั้นกลาง ต่างมีวัดและมัสยิด แต่ภูเขาก็ไม่สามารถกั้นความสัมพันธ์ของราษฎรสองหมู่บ้านได้ แม้แต่เจ้าอาวาสกับโต๊ะอิหม่าม ก็ยังไปมาจิบน้ำชาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ
ด้านการส่งเสริมอาชีพ ทางศูนย์ฯได้ส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพโดยยึดหลักการตามแนวพระราชดำริ เช่น การทำเกษตรโดยใช้ทฤษฎีใหม่ เกษตรแบบผสมผสาน และระบบวนเกษตร ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และการประมง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด พอมีพอกิน พอใช้จ่ายในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งทางศูนย์ฯได้เน้นให้เกษตรกรใช้หญ้าแฝกปลูกสลับกับแปลงของพืช ซึ่งระบบรากของหญ้าแฝกจะลงลึกในแนวดิ่ง ไม่แผ่กระจาย จึงสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ไม้ผล ตลอดจนพืชไร่ และไม่เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่อย่างใด ใบของหญ้าแฝกยังใช้เป็นวัสดุคลุมหน้าดิน ป้องกันการระเหยของน้ำ รักษาความชุ่มชื้น ย่อยสลายได้ง่าย เป็นปุ๋ยอินทรียวัตถุแก่พืชได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ตลอดจนปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เพื่อผลิตสินค้าเสริมรายได้ให้กับครอบครัว เช่น กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มเจียระไนพลอย กลุ่มทำผ้าบาติก กลุ่มทำกะปิ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น
ด้านสุขภาพอนามัย ส่งเสริมให้ชุมชนได้รับความรู้ด้านสุขภาพอนามัย จัดให้มีการตรวจสุขภาพอนามัย การวางแผนครอบครัว ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพ คือการป้องกันสุขภาพให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยมีสถานีกาชาดอำเภอหัวหินและสาธารณสุขอำเภอชะอำ เป็นผู้ดำเนินการ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ด้านการศึกษา สนับสนุนวิทยากรให้กับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน ตลอดจนพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งด้านวิชาการและการประกอบอาชีพ ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน ๑๐ โรงเรียน กับ ๑ ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กนักเรียน ตลอดจนการดูแลด้านสุขภาพอนามัย ด้านโภชนาการ
การเมือง การปกครอง สนับสนุนให้ราษฎรในชุมชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่ในชุมชนของตนเอง การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนกำหนดความจำเป็นพื้นฐานของท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของชุมชนเอง
เกษตรกรที่ทำกินมาก่อนในพื้นที่แห้งแล้งจนเกือบเป็นทะเลทราย รวมทั้งราษฎรที่อพยพเข้ามาใหม่ ต่างก็มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามพระราชดำริ เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่งในโครงการนี้ ก็คือ นายสำรอง แตงพลับ วัย ๖๖ ปี ได้เล่าว่า เดิมเป็นคนบ้านดอนยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ช่วยพ่อแม่ทำนาและน้ำตาลโตนด หลังจากปลดจากทหารเกณฑ์ ได้เข้ามาซื้อที่ดินที่นี่พร้อมกับเพื่อนอีก ๕ คน ปลูกสับปะรดบ้าง ปลูกอ้อยบ้าง สู้อยู่ราว ๑๐ ปีเพื่อนอีก ๔ คนก็สู้กับความแห้งแล้งไม่ไหว ขอถอยกลับไป ปล่อยให้นายสำรองสู้อยู่คนเดียวในพื้นที่เกือบ ๑๐๐ ไร่ และสะสมหนี้ไว้กว่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๗๐๐,๐๐๐ บาทเมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อน จนจะไม่ไหวอยู่แล้ว ก็พอดีมีโตรงการตามพระราชดำริห้วยทรายเข้ามา มีแหล่งน้ำเกิดขึ้น จึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพียงแค่ ๔ ปีก็ล้างหนี้ได้ทั้งหมด จึงแบ่งที่ให้ลูก ๕ คนไป เหลือเพียง ๓๐ ไร่อยู่กันสองคนกับภรรยา
เมื่อเข้าฝึกอบรมการเกษตรทฤษฎีใหม่จากศูนย์ฯห้วยทรายในปี ๒๕๔๔ นายสำรองจึงนำปรัชญาการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มะม่วง มะกรูด มะพร้าว ฝรั่ง ส้มโอ ฯลฯ และปลูกพืชผักตามฤดูกาล เช่น ชะอม ผักหวานบ้าน พริก ข่า ตะไคร้ ฯลฯ ทำนา ๓ ไร่ ในบ่อน้ำก็เลี้ยงปลาหลายชนิด เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู วัว เพื่อขายลูก และนำมูลสัตว์มาทำบ่อหมักแก๊สใช้ในครัวเรือน ส่วนกากหลังจากหมักแก๊สก็เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ ปลูกปอเทืองทำปุ๋ยพืชสด โดยใช้แรงงานเพียง ๒ คนตายาย ทำให้ชีวิตมีกินมีใช้ ไม่ร้อนรนด้วยหนี้อย่างแต่ก่อน เป็นตัวอย่างแก่เกษตรการรายอื่นๆ
ความสำเร็จในด้านนี้ นายสำรองจึงได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ระดับประเทศในปี ๒๕๕๑ เป็นวิทยากรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย และเปิดบ้านของตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านหนองเขื่อน ตำบลไร่ใหม่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเกษตรกรในท้องที่และจากต่างถิ่นมาเรียนรู้กันเป็นประจำ
ห้วยทรายในวันนี้ นอกจากจะกลายสภาพจากแผ่นดินที่เคยแห้งแล้ง กำลังจะกลายเป็นทะเลทราย มาเป็นป่าที่เขียวขจี และไร่นาเรือกสวนของเกษตรกรที่มีชีวิตดีขึ้นเช่นเดียวกับป่าแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นแม่แบบให้กลุ่มเกษตรกรที่กำลังเผชิญกับความแห้งแล้งกันดารของที่ทำกิน เพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เช่นเดียวกับสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ