นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา กรมชลประทานได้ดำเนินการขยายผลการพัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นา โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำหรือคลองไส้ไก่เข้าไปถึงแปลงนา ซึ่งมีเป้าหมายก่อสร้าง 40,000 ไร่ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 6,000 ไร่ ที่เหลือจะทยอยก่อสร้างไปจนครบ
“อ่างเก็บน้ำคลองสียัด เป็นแหล่งน้ำต้นทุน มีความจุมากถึง 420 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ลำพังการส่งน้ำโดยคลองส่งน้ำก็อาจยังไม่ทั่วถึง กรมชลประทานจึงเพิ่มศักยภาพการแพร่กระจายน้ำด้วยการก่อสร้างคลองไส้ไก่ คล้ายๆ กับเส้นเลือดฝอย เพื่อให้สามารถส่งน้ำให้ถึงแปลงนาได้อย่างทั่วถึง เท่ากับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำไปในตัวด้วย”
นายสิริวิชญกล่าวอีกว่า การที่เกษตรกรเข้าถึงน้ำทำให้การเพาะปลูกมีความมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะหากนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่เข้าไปจัดการแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็ยิ่งเพิ่มความมั่นคงในการผลิตและคุณภาพชีวิตมากขึ้น
“เรามีน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ส่งน้ำผ่านคลองส่งน้ำเข้ามา จนถึงคูส่งน้ำเพื่อเข้าแปลงนา ถ้าเกษตรกรมีการจัดการพื้นที่แบบเกษตรทฤษฎีใหม่ มีสระเก็บน้ำ ทำนา และปลูกพืชอื่นๆ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ อย่างน้อยก็สามารถอยู่รอดในช่วงแรกได้ แล้วค่อยๆ มั่นคงในบั้นปลาย”
นายดวงขจร สุระเสียง เกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำบำรุงรักษาคลองสียัด ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เดิมตนเองมีที่นาอยู่ 20 ไร่ และตัดสินใจซื้อที่ดินติดคลองส่งน้ำอีก 4 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน แทนอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แถมยังได้ถนนตัดผ่านที่ดินอีกด้วย เมื่อโครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 9 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้เข้ามาก่อสร้างจัดระบบน้ำ หรือคลองไส้ไก่ต่อจากคลองส่งน้ำเข้าสู่แปลงไร่นา ตนจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที เพราะสามารถชักน้ำจากคลองไส้ไก่ลงไปเก็บกักในสระเก็บน้ำที่ขุดไว้ 4 สระในพื้นที่ร่วม 2 ไร่ ทำให้มีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก
“เดิมผมขุดสระลูกหนึ่งไว้นานแล้ว หน้าแล้งบางปีก็แห้งจนต้องขุดลึกลงไปอีก แต่พอมีน้ำชลประทานเข้ามา ผมก็ขุดเพิ่มอีก 3 ลูก แถมยังชักน้ำเข้ามาเก็บได้ มีน้ำแล้วทำอะไรก็ได้ ต่างจากเดิมที่อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว บางปีทำนาปีก็ไม่ได้ผล ไม่มีน้ำไปตีแปลง หรือสกัดหญ้าไม่ให้โตสูงท่วมต้นข้าว”
นายดวงขจรกล่าวว่า ตนเพิ่งหวนกลับมาใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการเกษตรเมื่อต้นปี 2558 รวมประมาณ 9 ไร่ จากทั้งหมด 24 ไร่ โดยเพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพหลักอย่างที่เคยทำมา มีผลผลิตเฉลี่ยวันละ 200-400 กิโลกรัม และเมื่อมีน้ำสมบูรณ์จึงขยายไปสู่การปลูกไผ่ตง ไผ่หวาน ขายหน่อไม้ การปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงเป็ด ไก่งวง ปลา และกบ โดยประยุกต์ใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเครื่องมือในการจัดการไร่นา
“ผมขุดบ่อถึง 4 บ่อ จนญาติๆ เขาข้องใจว่าทำไมต้องขุดให้เสียที่ดินเปล่าๆ แต่ผมกลับคิดว่าที่ดินเยอะแต่ไม่มีน้ำไม่มีประโยชน์ สู้ที่ดินน้อยหน่อยแต่มีน้ำสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ตอนนี้เพิ่งลงมือทำได้ไม่นานก็เริ่มเห็นผลกันแล้ว คนอื่นก็เริ่มขุดบ่อตาม และชักน้ำชลประทานเข้ามาใช้” นายดวงขจรกล่าว