สพฉ. เตือนออกกำลังกายหนัก หักโหม ส่งผลหัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นไม่สม่ำเสมอ เสี่ยงหัวใจล้มเหลวได้ แนะออกกำลังพอเหมาะสม งดสูบบุหรี่ กินอาหารมีประโยชน์ พร้อมแนะนำวิธีช่วยเหลือคนหัวใจล้มเหลว
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ช่วงนี้กระแสการออกกำลังกายกำลังมาแรงโดยเฉพาะการปั่นจักรยาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การออกกำลังกายต้องออกอย่างเหมาะสม เพราะหากออกกำลังกายหักโหมเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดโดยโรคหัวใจล้มเหลว คือ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 33 จะไม่มีอาการเตือน หรือบ่งบอกว่าจะเป็นโรค หรืออาจมีอาการเล็กน้อย คือ แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับไว้ที่กลางหน้าอก ซึ่งมักจะมีอาการนานเกิด 1 นาทีขึ้นไป ร่วมกับปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่ โดยเฉพาะไหล่ซ้าย นอกจากนี้ บางรายอาจไม่มีอาการแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อย มีเหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
“การออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการปั่นจักรยานจะทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น และอาจมีการเต้นไม่สม่ำเสนอ ความดันเพิ่ม และเกิดการอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งการป้องกันคือเมื่อเริ่มมีอาการ หรือรู้สึกผิดปกติให้พัก และต้องหมั่นไปพบแพทย์ ที่สำคัญ ต้องลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ" เลขาธิการ สพฉ. กล่าวและว่า ส่วนการช่วยเหลือ หากเพื่อนที่ปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายมาด้วยกัน อยู่ดี ๆ ล้มลง เริ่มแรกคือต้องพามาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เลี่ยงทางเดิน หรือทางรถ หลังจากนั้น ให้โทร.สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งเรียกคนมาช่วย และเริ่มทำการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ซึ่งการช่วยเหลือจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากช่วยเหลือร่วมกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี ที่ขณะนี้ สพฉ. ได้รณรงค์ให้มีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นแล้ว
นพ.อนุชา กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือทำได้โดยการกดนวดหัวใจ ให้จัดผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งโดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือลงไปตามแนวกึ่งกลางของหน้าอก หรือกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วยแล้วนำมืออีกข้างมาประกบ ประสานนิ้วและทำการล็อกนิ้ว กระดกข้อมือขึ้นลง โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น โน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย แขนตรงและตึง ออกแรงกดลงไปโดยใช้แรงจากหัวไหล่ จุดหมุนอยู่ตรงสะโพก กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วยตลอดการนวดหัวใจ ส้นมือไม่หลุดออกจากหน้าอกผู้ป่วยด้วยความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที และทำไปเรื่อย ๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่