นักวิชาการทีดีอาร์ไอผุดไอเดีย “ร่วมจ่าย” ในผู้ป่วยนอก โปะเงินช่วยเหลือผู้ป่วยใน เหตุจัดสรรงบผู้ป่วยในน้อย ทั้งที่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เสนอ สธ. ลดบทบาทผู้ให้บริการลง ถ่ายโอน รพ. ไปสังกัดอื่น หรือออกนอกระบบ หากต้องการดูแลเรื่องระบบประกันสุขภาพด้วย
วันนี้ (1 ก.ย.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงข่าว “การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ” โดย นายจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ช่วยขยายความคุ้มครอง โดยทำให้สัดส่วนของประชาชนที่มีประกันสุขภาพทุกระบบเพิ่มขึ้น และเพิ่มโอกาสในการใช้บริการผู้ป่วยใน ซึ่งมีรายได้น้อย และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยของครัวเรือนลง
นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในที่ใช้สิทธิบัตรทองในปี 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 12,305 บาทต่อคน เมื่อเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีสุดท้ายของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง 5 โรค ระหว่างผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 52,181 บาท และข้าราชการ 98,961 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 59,853 บาท จากตัวเลขจะเห็นได้ว่า รัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในสิทธิบัตรทองต่ำเกินไป อัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในให้แก่สถานพยาบาลระดับสูง เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จึงต่ำกว่าอัตราการจ่ายของสวัสดิการข้าราชการ การเข้าถึงโรงพยาบาลระดับสูงของผู้ป่วยบัตรทองจึงต่ำกว่ามาก จากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทำให้คนกังวลว่างบบัตรทองจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีการร่วมจ่ายด้วยหรือไม่
“เบื้องต้นเสนอว่าควรจัดสรรงบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใหม่ โดยผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรครุนแรง ควรร่วมจ่าย (co-payment) ด้วย เพื่อเป็นการช่วยเกลี่ยงบจากผู้ป่วยนอกไปให้ผู้ป่วยในมากขึ้น แต่ต้องยกเว้นผู้ป่วยนอกที่ป่วยด้วยโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรัง โดยอาจเป็นการร่วมจ่ายค่ายา ค่าซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้า และร่วมจ่ายเมื่อไปพบแพทย์ หรือร่วมจ่ายในหลายลักษณะรวมกัน แบบเดียวกับต่างประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น แคนาดา ในหลายจังหวัดมีการเก็บเบี้ยประกันล่วงหน้า ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น มีการร่วมจ่าย ณ จุดใช้บริการประมาณ 10% และร่วมจ่ายค่ายา สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเสนอเป็นรูปธรรม” นางวรวรรณ กล่าว
นางวรวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 สิทธิให้มากขึ้น และลดบทบาทการเป็นผู้ให้บริการเองลง ที่สำคัญ สธ. ไม่ควรจะเป็นทั้งเจ้าของโรงพยาบาลและผู้จัดการระบบประกันสุขภาพไปพร้อมกัน เพราะการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลจะเน้นดูแลผลประโยชน์ของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้จัดการระบบประกันสุขภาพต้องเน้นดูแลผลประโยชน์ของผู้ป่วย ทั้งนี้ หาก สธ. ต้องการกำกับดูแลระบบประกันสุขภาพอย่างเต็มที่ ก็ควรโอนย้ายโรงพยาบาลไปยังหน่วยงานอื่นนอก สธ. เช่น องค์กรอิสระ มหาวิทยาลัย หรือออกนอกระบบ
ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า งบบัตรทองต้องขึ้นทุกปี เพราะประชากรเพิ่มขึ้น มีผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี ทำให้ค่าใช้จ่ายย่อมสูงตาม อีกทั้งเงินเดือนของแวดวงสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นตลอด รวมถึงเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ก็จะส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องการให้เกิดการร่วมจ่าย จึงเห็นว่า การร่วมจ่ายจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถดึงคนชั้นกลางให้เข้ามาใช้บริการด้วย โดยต้องออกแบบแพกเกจให้เหมาะสม เช่น ลดระยะเวลาในการรอพบแพทย์ เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อมีเงินไปจ่ายค่ารักษาแพง ๆ ในเอกชน สุดท้ายจะกลับมากัดกร่อนระบบคนรายได้น้อย เพราะมีการดึงทรัพยากรไปนั่นเอง ที่สำคัญ หากคนชั้นกลางเข้ามาจะกล้าเรียกร้องกับฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบายในการพัฒนาระบบบัตรทองด้วย ที่สำคัญ คือ การร่วมจ่ายต้องไม่เป็นภาระของคนที่ป่วยหรือคนไม่มี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่