xs
xsm
sm
md
lg

ญาติร้องซ้ำคดีผู้ป่วยตายไม่คืบ แฉหมอย้าย รพ.แอบย้ายสิทธิผู้ป่วยไปด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ญาติผู้ป่วยร้องทุกข์ซ้ำ คดีผู้ป่วยตายจากแพทย์ประมาทไม่คืบ แฉแอบย้ายสิทธิผู้ป่วยไปรักษา รพ. อื่น พบเคสเช่นนี้กว่า 100 ราย ด้าน รองอธิบดี สบส. เผยผลสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบหมอย้ายโรงพยาบาลแล้วแอบย้ายสิทธิผู้ป่วยไปด้วย

วันนี้ (3 ก.ย.) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมนางบรรจบ บุญเกียรติบุตร อายุ 83 ปี มารดาของ น.ส.คนึงนิตย์ บุญเกียรติบุตร ผู้เสียชีวิต และญาติ ได้เดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมอีกครั้งร้องเรียนกรณี น.ส.คนึงนิตย์ อาจเสียชีวิตจากความประมาทของแพทย์ ซึ่งร้องเรียนต่อแพทยสภาไปแล้วตั้งแต่ ก.พ. 2558 แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยล่าสุด พบว่า รพ.จุฬารัตน์ 3 ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาของแพทย์จาก รพ.ภัทรธนบุรี ซึ่งพบว่ามีการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.จุฬารัตน์ 3 ไปยัง รพ.ภัทรธนบุรี และเป็นการลักลอบนำผู้ป่วยออกไปรักษาที่อื่นโดยโรงพยาบาลไม่ได้ยอม ซึ่งพบลักษณะดังกล่าวกว่า 100 ราย และพบว่า มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทั้งที่ผู้ป่วยมีสิทธิบัตรทอง โดยมี นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับเรื่องดังกล่าว

นายสงกานต์ กล่าวว่า อยากขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ และมีการตั้งเบิกจากรัฐในกองทุนบัตรทองไป แต่ยังมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพิ่ม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะไม่สุจริตหากเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยได้เข้าร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรม และ คสช. โดยมี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนไปแล้ว ซึ่งอยากขอความชัดเจนกับ สธ. และ สปสช. ที่ผ่านมา การร้องเรียนไปผ่านไปกว่า 6 เดือนแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ด้าน นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า สปสช. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และจะดำเนินการให้เกิดความชัดเจนต่อไป ซึ่งหากสอบสวนและพบว่ามีการเรียกเก็บเงินประชาชนในส่วนที่เป็นสิทธิตามที่ได้กำหนดไว้ ก็จะมีมาตรการ อาทิ การเรียกเงินคืน ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต้นสังกัด แพทยสภาต้องสอบสวนและวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นชอบหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. เคยได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง และมีมาตรการลงโทษ เช่น การถอดออกจากโครงการ เป็นต้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว กรมได้ดำเนินการเข้าอนุกรรมสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. เชิญทั้งผู้ร้องและโรงพยาบาลเข้ามาสอบถาม พบว่า คนไข้เข้ามารักษาที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 จริง และผู้ป่วยหายไปจากระบบ จนไปพบภายหลังว่า คนไข้ไปรักษาที่ รพ.ภัทรธนบุรี สรุปเบื้องต้นว่า ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายอาจเป็นแพทย์ ที่เคยทำอยู่ที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 และเป็นสิ่งที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 ต้องไปเอาผิดและพิจารณาเอง หากพิสูจน์ได้ว่า แพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องในการย้ายคนไข้ไปโดยพลการ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วย และต้องสอบสวนต่อ ส่วนระบบการเปลี่ยนโรงพยาบาลนั้น ได้ส่งเรื่องต่อไปยัง สปสช. ให้พิจารณาว่าเป็นไปตามสิทธิหรือไม่ และยังต้องรอการพิจารณาของแพทยสภาอีกครั้งด้วยว่าการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อมีบทลงโทษกับโรงพยาบาลต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น