xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทค้านห้าม รพ.ขึ้นทะเบียนบัตรทอง จวกตัดเงินเดือนที่เขต รพ.เล็กได้เงินน้อยลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปธ.แพทย์ชนบทค้านสุดตัว รพ.เลิกรับขึ้นทะเบียนบัตรทอง ชี้คนป่วยรับผลกระทบ ย้ำไม่เป็นภาระเจ้าหน้าที่ ไม่ขัดหลักเกณฑ์แยกผู้ซื้อ - ผู้ให้บริการ ชี้จ้าง สธ. ทำหน้าที่ต่อสิ้นเปลืองงบประมาณกว่าพันล้านบาท เบียดงบรายหัว ยันไม่ชี้แจงเรียกร้องปลดปลัด สธ. ชี้ทำในฐานะประชาชน ค้านตัดเงินเดือนระดับเขต ทำรพ.เล็กได้เงินรายหัวลดลง ชี้ตัดเงินเดือนระดับเขตต้องคิดรายได้จากสวัสดิการและประกันสังคมด้วย

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง ทำได้ที่หน่วยบริการ และการขึ้นทะเบียนราษฎร์ ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งการยกเลิกทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนบัตรทองที่หน่วยบริการนั้นไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนและโรงพยาบาลต่างได้รับผลกระทบ อย่างเด็กแรกคลอด คนที่เปลี่ยนสิทธิรักษาพยาบาล เช่น ตกงานจากประกันสังคมมาสู่สิทธิบัตรทอง หรือย้ายโรงพยาบาล ก็มักจะแจ้งย้ายสิทธิต่อเมื่อป่วยแล้ว คือ มาที่โรงพยาบาล หากโรงพยาบาลไม่รับขึ้นทะเบียนให้เหมือนเดิมก็จะเกิดผลกระทบ แม้ สธ. จะอ้างเรื่องหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องกำหนดสิทธิประโยชน์ หรือการจ่ายงบประมาณ จึงมองว่าหน่วยบริการยังสามารถทำหน้าที่ได้ นอกจากนี้ หากโรงพยาบาลรับขึ้นทะเบียนก็สามารถคิดค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบบัตรทองได้เลย ไม่ต้องเก็บเงินกับผู้ป่วย ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตนจะไม่ทำตามคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเชื่อว่าโรงพยาบาลชุมชนอื่นก็น่าจะทำตาม เพราะที่จริงแล้วการทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนนั้นก็ไม่ได้ถือเป็นภาระของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ที่สำคัญหากต้องจ้าง สธ. ทำหน้าที่เช่นเดิมก็ต้องใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาทจากค่าบริหารจัดการ ก็จะกระทบกับงบเหมาจ่ายรายหัวอีก

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นพ.สสจ.ขอนแก่น ให้ทำหนังสือชี้แจงกรณีทำหนังสือเรียกร้องถึงนายกฯ ให้ปลด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ออกจากตำแหน่งปลัด สธ. ซึ่งเป็นการให้ร้ายผู้บังคับบัญชา นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่จำเป็นต้องชี้แจง เพราะการยื่นเรื่องตนทำในฐานะประชาชน และประธานชมรมแพทย์ชนบท ไม่ใช่ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่สำคัญการมาเปิดเผยข้อมูลการยื่นเรื่องของตนออกมาเช่นนี้ ถือว่าไม่รักษาฐานะคุ้มครองพยานของตนหรือไม่

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของ สธ. ที่จะจัดสรรงบบัตรทอง โดยการตัดเงินเดือนที่ระดับเขตนั้น อย่างไรก็ไม่เห็นด้วย เพราะเงินเดือนจะคิดแต่เงินในระบบบัตรทองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องนำรายได้ทั้งหมดมาคิดเป็นเงินเดือนด้วยคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคมเพราะส่วนใหญ่ 80% โรงพยาบาลชุมชนรายได้มาจากงบบัตรทอง ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่มีรายได้จากสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคมเกือบครึ่ง การตัดเงินเดือนโดยคิดแค่งบบัตรทองจึงกลายเป็นโรงพยาบาลเล็กต้องไปอุ้มโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้ รพ.เล็กได้เงินรายหัวลดลง

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ กรรมการชมรมแพทย์ชนบท และผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ผ่านมา สป.สธ. พยายามกดดัน สปสช. ทุกวิถีทาง ตั้งแต่ให้มีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่ว ยิ่ง รพ. ที่ประสบปัญหาขาดทุน ยิ่งเป็นปัญหาหนัก เพราะการให้ไปจัดสรรผ่านเขตสุขภาพ และมีการหักเงินเดือนของข้าราชการ สป.สธ. ในระดับเขตยิ่งเป็นปัญหา เพราะจะทำให้รพ. ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมาเงินเดือนของข้าราชการ และเงินเหมาจ่ายรายหัวจะรวมกัน และมาหักกันที่ระดับพื้นที่ แต่ข้อเสนอ สป.สธ. ต้องการหักที่เขตสุขภาพ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ และจะกระทบต่อเงินที่จะมาถึง รพ. แน่นอน

เห็นได้ว่าข้อเสนอของ สป.สธ. ไม่ส่งผลดีต่อ รพ. ที่สำคัญยังมีข้อเสนออื่นๆ ออกมาไม่หยุด อย่างการยุติการขึ้นทะเบียนบัตรทอง ยิ่งไม่สมควร เพราะสุดท้ายประชาชนจะได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สะดวก ไม่ได้สิทธิ ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ดังนั้น สำหรับรพ.สิชล ก็จะไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่ส่งผลดีต่อประชาชนเช่นกัน และเชื่อว่าโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หลายแห่งก็จะไม่ทำตามด้วย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 750 แห่งทั่วประเทศ" นพ.อารักษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น