สปสช. จัดระดมความเห็นแก้ปัญหาบัตรทอง ผู้ให้บริการขอหักเงินเดือนบุคลากร สธ. ออกจากงบรายหัว ด้าน ผอ.รพ.ชุมชน วอนยุติขัดแย้ง ร่วมมือกันของบประมาณเพิ่มจากสำนักงบ ขณะที่หมอชนบทลั่นไม่เอาการจัดสรรงบบัตรทองระดับเขตตามที่ปลัด สธ. เสนอ ชี้ตัดเงินเดือนระดับจังหวัดเกินจริง ต้นเหตุทำ รพ.ขาดทุน
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมรวบรวมข้อเสนอจากผู้ให้บริการและเครือข่ายด้านสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 29 - 30 ม.ค. โดมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ทั้งนี้ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการ สปสช. กล่าวว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นนี้มี 3 ประเด็น คือ 1. การบริหารจัดการเงินกองทุนบัตรทอง 2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. และ 3. ผลงานคาบเกี่ยวระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยจะสรุปให้ครบถ้วน ตรงตามที่เสนอทุกฝ่าย เพื่อเสนอต่อบอร์ด สปสช. ซึ่งประเด็นใดที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที ก็จะทำเลยโดยไม่ต้องรอปีงบประมาณ 2559 แต่หากเป็นเรื่องกฎหมายก็จะรวบรวมเพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ขอให้มีการหักเงินเดือนของบุคลากรสังกัด สป.สธ.ออกมาผ่านเขตสุขภาพ เพื่อให้มีการบริหารจัดการกันในพื้นที่ เนื่องจากจะทราบดีว่าโรงพยาบาลไหนมีปัญหามากน้อยแค่ไหน และการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวตามสัดส่วนประชากร หลายครั้งไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนได้จริง เพราะบางพื้นที่มีประชากรน้อย แต่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาล ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนทุกปี ดังนั้น ควรปรับวิธีจัดสรรเงินใหม่ เพื่อให้แต่ละแห่งได้รับประโยชน์สูงสุด
นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า สิ่งสำคัญอยากให้ทั้ง สป.สธ. และ สปสช. เลิกทะเลาะ และหันมาจับมือกันทำความเข้าใจ และช่วยกันในเรื่องของบประมาณเพื่อให้โรงพยาบาลอยู่ได้ดีกว่า หากมีเหตุผลเพียงพอ เชื่อว่าสำนักงบประมาณย่อมช่วยเหลือ
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขอเสนอให้มีการจัดสรรเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขในระดับจังหวัด ไม่ใช่ระดับเขตเหมือนที่ สป.สธ. เสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เมื่องบเหมาจ่ายรายหัวลงไปยังพื้นที่ ตามที่ตกลงจะต้องมีการหักเงินเดือนของข้าราชการสังกัด สป.สธ. ร้อยละ 60 โดยจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนความเป็นจริง แต่ที่ผ่านมา สป.สธ. กลับหักเงินเดือนเกินจริง เช่น บางพื้นทีอยู่ห่างไกล ทุรกันดาร สัดส่วนประชากรน้อย แต่กลับหักเงินเดือนมาก โรงพยาบาลจึงเหลืองบเหมาจ่ายรายหัวในการบริหารจัดการน้อยลง จนเกิดภาวะขาดทุน ขณะที่เงินที่ สป.สธ.ขอหักจากทุกโรงพยาบาลร้อยละ 3 หรือประมาณ 1,841 ล้านบาท เพื่อกันไว้สำหรับแก้ปัญหาโรงพยาบาลต่างๆ กลับจัดสรรอย่างไม่เหมาะสม
“ปีงบประมาณ 2557 ที่ จ.ตาก พบว่า มีการตัดเงินเดือนเกินจากความเป็นจริง เช่น ต้องตัด 60% แต่ตัดเกินสูงกว่าคือประมาณ 141 ล้านบาท ขณะที่เงินช่วยเหลือที่ สป.สธ. กันไว้ 3% กลับจัดสรรลงมาอย่างไม่เต็มที่ จ.ตาก ได้เพียง 19 ล้านบาท สุดท้ายก็ขาดทุน จึงมองว่าเรื่องนี้ สป.สธ. ไม่ควรเสนออะไร ยิ่งแนวทางการจัดสรรงบผ่านเขตสุขภาพยิ่งไม่ควร เพราะระดับจังหวัดยังมีปัญหา ถ้าเป็นเขตสุขภาพ ย่อมทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดทุนเพิ่ม” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่