xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ลั่นยุติขัดแย้ง “บัตรทอง” ม.ค. - รพ.ใหญ่ ฮึ่ม! ไม่ใช่ลูกน้อง สปสช.เดินหน้าบอยคอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ. ลั่นขัดแย้งจัดสรรงบบัตรทองต้องจบใน ม.ค. นี้ ยืนยันเดินหน้า 4 ข้อเสนอ ด้านชมรม รพศ./รพท. จี้หน่วยงานกลางภายนอกตรวจสอบการบริหารงาน สปสช. หวั่นซ้ำรอยประกันสังคมพบบอร์ดมีผลประโยชน์ทับซ้อน เมินคำสั่ง “หมอรัชตะ” ส่งข้อมูล สปสช. บอก สปสช. ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2558 ว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นการเอาเงินนำระบบบริการนั้น กลไกทางการเงินการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาสุขภาพประชาชนได้ ต้องใช้กลไกการพัฒนาระบบบริการด้วย จากนั้นจึงนำกลไกทางการเงินมาสนับสนุนเสริม เพราะเห็นได้ชัดจากที่ผ่านมาการใช้เงินเป็นจำนวนมากกลับไม่สามารถแก้ปัญหาจำนวนผู้ป่วยได้ เช่น ตาต้อกระจก ใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 2549 - 2556 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถลดจำนวนการตาบอดจากต้อกระจกลงได้ เป็นต้น

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการหารือเรื่องการปรับเกณฑ์การบริหารงบบัตรทองมาหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช.แล้ว แต่ก็ยังไม่มีมติที่ชัดเจนออกมาในเรื่องนี้ ซึ่งหากมีมติออกมาตั้งแต่ ธ.ค. 2557 คงสามารถเดินหน้าพิจารณาการจัดสรรงบรายหัวบัตรทองไตรมาส 2 - 3 ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม สธ. ยังยืนยันใน 4 ข้อเสนอในการปรับการบริหารงบบัตรทอง คือ 1. ให้ดำเนินการในรูปแบบของเขตและตัดเงินเดือนที่เขตสุขภาพ 2. บูรณาการงบ 9 หมวดเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพ และกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บริการกรณีเฉพาะ ฟื้นฟูสมรรถภาพ แพทย์แผนไทย ค่าเสื่อม และมาตรา 41 ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการรับบริการ 3.การบริหารเงินเดือนระดับเขต สามารถยืดหยุ่นตามรูปแบบแต่ละพื้นที่ โดยใช้ยอดเงินเดือนรายจังหวัด และปรับลดค่าแรงตามหลักเกณฑ์และวงเงินรวมที่สำนักงบประมาณกำหนด และ 4. ตัววัดผล KPI ที่เสนอต่อสำนักงบประมาณแจ้งเป็นเป้าหมายรายเขต โดยเรื่องนี้ควรจะต้องยุติภายในสิ้น ม.ค. นี้ มิเช่นนั้น ทาง สธ. อาจจะต้องมีท่าทีบางอย่างเพื่อแสดงออก

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้แก้ปัญหา โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) บอยคอตไม่ยอมส่งข้อมูลให้แก่ สปสช. นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอตอบ แต่คิดว่าอยู่ที่สถานพยาบาลเอง แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ

นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สธ. กล่าวในฐานะตัวแทนสมาชิกชมรม รพศ. รพท. ว่า นอกเหนือจากการบริการประชาชนแล้ว หน่วยบริการยังมีหน้าที่ในการสะท้อนข้อเท็จจริงในระบบสุขภาพ อย่างประกันสังคมปัจจุบันก็มีการเข้ามาตรวจสอบ โดยพบว่าคณะกรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ควรดำเนินการด้วยเช่นกัน คือ น่าจะมีหน่วยงานภายนอกเข้าตรวจสอบด้วย เช่น ป.ป.ช. ศาลปกครอง เป็นต้น จะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก วันนี้เราจะต้องก้าวเดินไปไกลกว่าการพูดในบอร์ด สปสช. เพียงอย่างเดียว

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพฯเป็นสิ่งที่ดี แต่ระบบการบริหารยังมีปัญหา จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยื่นข้อเสนอไปแล้ว แต่กลับถูกมองว่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ข้อเสนอที่เราพยายามดำเนินการก็เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยืนยันว่าเรายังดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ขอให้การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องภายในระหว่างสองหน่วยงานคือ สธ. และ สปสช. ซึ่งจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง และบอร์ด สปสช.

นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ให้ปรับปรุงแก้ไข ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโรคเฉพาะ ทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคไต กองทุนสุขภาพตำบล ยืนยันว่าคนไข้ไม่ได้รับผลกระทบ แม้เราจะยืนยันไม่ส่งข้อมูลให้แก่ สปสช. ก็ยังดูแลคนไข้ทุกกลุ่ม ซึ่งการกล่าวหาเช่นนี้เป็นการบิดเบือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศ.นพ.รัชตะ ขอให้ รพศ./รพท. ส่งข้อมูลให้แก่ สปสช. เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหา นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เรายังเก็บข้อมูลและส่งให้ สธ. เหมือนเดิม ส่วน สปสช. เราอยากให้เขามาดูว่าปัญหานั้นมี แต่ยังไม่จัดการ เราก็ไม่ส่งข้อมูล ดังนั้น หาก สปสช. ยิ่งแก้ปัญหาเสร็จเร็ว เราก็ส่งข้อมูลให้เร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยืนยันว่าจะไม่ส่งข้อมูลให้ สปสช. จะเป็นการขัดคำสั่ง รมว.สาธารณสุข หรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า พวกเราทำงานภายใต้ สธ. ซึ่งเราก็ส่งข้อมูลให้ สธ. แต่พวกเราไม่ได้ทำงานภายใต้ สปสช.

เมื่อถามว่า มีคนโยงเรื่องการไม่ส่งข้อมูลให้ สปสช. เพื่อปลดปลัด สธ. นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า คนขับไล่ปลัด สธ. ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามขับไล่และปลดปลัด สธ. มานานแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็โยงเข้ามาได้ทั้งหมด หรือต่อให้ไม่ทำอะไรเขาก็หาทางมาไล่ได้อยู่ดี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น