xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูงวัยกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด Aging & Lifelong Learning

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” เชื่อว่า เป็นประโยคที่หลายคนคงเคยได้ยินและคุ้นเคยกันดี การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต และเราเองสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครอบครัว หรือจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นเรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะการเสื่อมถอยของสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จำเรื่องที่เพิ่งพูดไปไม่ได้ ทักษะที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ เดินหลงทิศ จำชื่อคนไม่ได้ เป็นต้น การเรียนรู้เป็นการบริหารสมองโดยกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิด ทบทวนความจำ ทำให้สมองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองได้ เช่นเดียวกับการออกกำลัง (ร่าง) กาย เพื่อที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง สมองก็ต้องการการออกกำลัง เพื่อให้สมองแข็งแรงเช่นเดียวกัน

สำหรับการออกกำลังสมองมีหลายวิธี ซึ่งเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ คือ การออกกำลังสมองที่เรียกว่า “นิวโรบิก เอกเซอร์ไซ” เป็นการฝึกสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของประสาททั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น และการลิ้มรส รวมทั้งการรับรู้ส่วนที่ 6 คือ อารมณ์ ให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกัน โดยการฝึกทำกิจกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำ เช่น การเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ดนตรีไทย วาดรูป ทำสวน การใช้งาน LINE เพื่อคุยกับลูกหลาน หรือโปรแกรมแอปพลิเคชันต่าง ๆ การฝึกการเขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด การเปลี่ยนทิศทางในการเดินทาง การใช้การดมกลิ่น มือคลำ ทดแทนการมองเห็น เป็นต้น

การฝึกเช่นนี้บ่อย ๆ จะพบว่าร่างกายได้มีการผลิตสาร นิวโรโทรฟินที่ปกป้องเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองงอกกิ่งก้านสาขาที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ได้ ทำให้สมองแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง อันเป็นวิธีการช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

นอกจากการออกกำลังสมอง การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ อื่นที่ควรปฎิบัติ ได้แก่

1. การออกกำลังกาย ควรทำให้ได้ครบ 3 ส่วน คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อให้หัวใจถูกกระตุ้น เช่น การเดินเร็ว การออกกำลังกายที่ช่วยการทรงตัว เช่น การบริหาร การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

2. การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหารสีรุ้ง” ได้แก่ ผัก ผลไม้ที่มีสีต่าง ๆ พบว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง เช่น สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน จากผลไม้ประเภทองุ่นม่วง บี้ทรู้ท หอมแดง บลูเบอร์รี เป็นต้น สีเขียว จากกลุ่มผักใบเขียวต่าง ๆ แอปเปิลเขียว กีวี องุ่นเขียว เป็นต้น สีเหลือง จากผลไม้ประเภทมะม่วงสุก ส้ม และสุดท้ายสีแสดและแดง จากผลแครอท แตงโม พริกแดง มะเขือเทศ แอปเปิลแดง เป็นต้น

3. การดูแลสุขภาพจิต ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า รู้จักจัดการกับความเครียดให้หมดไป

4. การมีกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และ 5. การดูแลสุขภาพกาย เพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ เช่น เบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง พยายามควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันและความดันโลหิตด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ จำนวนกว่า 600,000 คน ถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งสัดส่วนของผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เน้นย้ำให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี โดยเน้นการช่วยเหลือตัวเองได้ในผู้สูงอายุ รวมถึงแนวทางการปฎิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์มาอย่างต่อเนื่อง ในหัวข้อ “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์” ซึ่งครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ตามรูปแบบของ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” โดยมีการแบ่งกิจกรรมย่อยเป็นห้องเรียนต่าง ๆ จำนวน 5 ห้องเรียน ได้แก่ ห้องเรียนวิชาพลศึกษา วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคหกรรมศาสตร์ วิชาดนตรีศึกษา และวิชาสันทนาการ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงวิธีการป้องกันต่าง ๆ และการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2558 เวลา 8.00 - 17.00 น. ณ โรงแรมตวันนา สุรวงศ์

กิจกรรมดังกล่าวนี้เปิดรับสมัครสำหรับผู้สูงอายุ วัย 60 - 75 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีปัญหาในเรื่องความจำในจำนวนจำกัดเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.alz.or.th หรือ โทร. 02 644-5499 ต่อ 138 และ 139

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น