xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวอยู่ครบพ่อแม่ลูกน้อยลง อยู่ร่วมปู่ย่าเยอะขึ้น แนะสงกรานต์สานสัมพันธ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตเผยครอบครัวอยู่ครบ พ่อแม่ลูกน้อยลง พบอยู่กับปู่ย่าตายายมากขึ้น แนะอาศัยหยุดยาวสงกรานต์สร้างความรักความผูกพัน เน้นผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตัวเอง สร้างสัมพันธ์ผ่านถามเด็กให้รู้จักคิดและถาม

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครอบครัวที่อยู่ครบทั้งสามีภรรยาและลูกมีอัตราส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 34.9 ในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 27.5 ในปี 2555 โดยครอบครัวที่อยู่เฉพาะสามีและภรรยาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.3 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 15.7 ในปี 2555 สอดคล้องกับข้อมูลของครัวเรือนที่หลานอยู่กับปู่ย่าตายายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.9 ในปี 2545 เป็น ร้อยละ 33.9 ในปี 2555 ซึ่งสะท้อนว่าความรักความผูกพันในครอบครัวไทยที่มีน้อยลง ภาระการเลี้ยงดูหลานตกอยู่กับผู้สูงอายุมากขึ้น

นพ.เจษฎา กล่าวว่า วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานจะได้มีโอกาสแสดงความรักความกตัญญูต่อผู้สูงอายุ และสร้างความรัก ความผูกพัน มอบความสุขแก่กันในครอบครัว จึงเป็นโอกาสดีที่คนทั้ง 3 วัย พ่อแม่ ลูก และปู่ย่าตายาย จะได้ใช้เวลาสร้างความสุขร่วมกัน โดยผู้สูงอายุ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพกายและใจตนเอง เพราะการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าของผู้สูงอายุจะนำความสุข ความมีชีวิตชีวา ความหวังและความภาคภูมิใจมาให้กับตัวเอง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลใกล้ชิด ครอบครัว ขณะที่ลูกหลานสามารถมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้สูงอายุ โดยมอบความรักด้วยการเคารพยกย่อง ห่วงใย เอื้ออาทร มอบความเข้าใจ โดยต้องยอมรับธรรมชาติของผู้สูงอายุมีความเสื่อมไปตามวัย อาจมีการหลงลืม หรือทำเรื่องเดิมซ้ำๆ มอบสัมผัส เช่น กอด บีบนวด จับมือ เพื่อถ่ายทอดความรัก มอบเวลา ด้วยการพาท่องเที่ยว พูดคุยถามทุกข์สุข และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุแสดงประสบการณ์ ให้ได้ทำงานหรือกิจกรรมที่สามารถทำได้ ซึ่งงต้องทำด้วยใจ และความรัก ไม่ใช่หน้าที่

“แนวทางสร้างความรักความผูกพันในครอบครัว ที่เป็นการบริหารสมอง สร้างคุณค่าให้กับพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ด้วยการสอนลูกหลานให้มีความเก่ง ฉลาด ทำได้โดย 1. เพิ่มความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็ก ฝึกเด็กให้เป็นคนช่างถาม ช่างสังเกต โดยถามด้วยคำว่า ทำไม และ อย่างไร 2. ให้กำลังใจเด็กและสร้างความมั่นใจให้กับเด็กด้วยการชมเชย 3. ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะตอบคำถาม ให้บอกเหตุผลกับเด็กตรงๆ เช่น เหนื่อยมากให้เด็กไปทำอย่างอื่นก่อน หรือตัดบทเมื่อเด็กพูดซ้ำเรื่องเดิม และ 4. ทำให้การ ถาม-ตอบ เป็นเกมที่สนุกสำหรับเด็ก ที่สำคัญ ต้องระลึกไว้เสมอว่า การดุด่า เมื่อเด็กถามคำถามจะเป็นการทำลายความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และไม่จำเป็นว่าต้องตอบคำถามเด็กให้ได้ทุกคำถาม ตอบไม่ได้ก็ใช้วิธีการถามเด็กกลับ เพื่อให้หาคำตอบร่วมกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น