สถาบันโภชนาการ เผยผลวิจัย “ฝักมะรุม” ช่วยป้องกันเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ฤทธิ์การรักษาไม่ชัดเจน เหตุเซลล์มะเร็งไม่ลด ระบุช่วยลดการอักเสบได้ แต่ระวังกินมากอาจอันตราย เตือนอย่าเชื่อข้อมูลส่งต่อในโซเชียลฯ อาหาร ผลไม้รักษาสารพัดโรค ชี้ไร้งานวิจัยรองรับสุดเสี่ยง
วันนี้ (6 ส.ค.) ผศ.ชนิพรรณ บุตรยี่ รองผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “มะรุมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่” หลังพบมีการแชร์ข้อมูลมะรุมสามารถรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ว่า คนนิยมหันมากินมะรุม เพราะมีการแชร์ข้อมูลว่ารักษามะเร็งลำไส้ได้ ขณะเดียวกัน มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะรุมในรูปแคปซูล ซึ่งเกิดคำถามว่ากินมาก ๆ จะเกิดอันตรายหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว “มะรุม” เป็นพืชที่พบได้ทั่วไป อย่างประเทศไทยก็พบได้ ทั้งยังปลูกได้ง่าย ส่วนคุณค่าทางโภชนาการ พบว่า มีทั้งโปรตีน กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว หรือ “โอเมกา 9” ที่สูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ สถาบันฯ จึงสนใจทำการศึกษา เพราะมะเร็งลำไส้พบมากเป็นอันดับ 2 ของไทย โดยสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น นิยมกินพวกเนื้อแดง หรืออาหารพวกไส้กรอก แฮมมาก ๆ ก็อาจเสี่ยงก่อมะเร็งได้
ผศ.ชนิพรรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการที่สถาบันฯ ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาตัวฝักมะรุม เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการป้องกันและต้านภาวะการอักเสบของมะเร็งลำไส้ โดยทดสอบในหนูทดลองด้วยการให้กินมะรุมที่ผสมในอาหารปกติในปริมาณเทียบเท่ากับคน คือ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ในปริมาณความเข้มข้นของมะรุมแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 1.5% 3% และ 6% ทั้งในหนูทดลองอาการปกติ และหนูทดลองที่มีเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 ศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค พบว่า หนูทดลองอายุน้อยที่กินฝักมะรุมต้มเป็นเวลา 5 สัปดาห์ และหนูทดลองอายุมากกินเป็นเวลา 15 สัปดาห์ในปริมาณที่แตกต่างกัน 3 ระดับนั้น ไม่มีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดพยาธิการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ผศ.ชนิพรรณ กล่าวว่า รูปแบบที่ 2 ศึกษาการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบว่า หนูทดลองกินมะรุมต้มผสมอาหารเป็นเวลา 5 สัปดาห์สามารถลดความรุนแรงของพยาธิสภาพของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แม้จะกินในปริมาณมากก็ไม่ส่งผลใด ๆ และรูปแบบที่ 3 ศึกษาการบรรเทาอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ หนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง เมื่อกินฝักมะรุมต้มเป็นเวลา 15 สัปดาห์ แบ่งเป็นปริมาณมะรุม 3 ขนาด พบว่า สามารถลดเซลล์มะเร็งได้ แต่มะรุมที่มีปริมาณต่ำกลับให้ผลดีกว่าปริมาณสูง สรุปคือ การกินฝักมะรุมต้มในแง่ของการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ ไม่ก่อผลใด ๆ แต่หากกินเพื่อรักษาโรคมะเร็งต้องระวังปริมาณ เพราะเซลล์มะเร็งไม่ลดลง และไม่มั่นใจว่าจะเกิดผลเสียอย่างไร ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรกินปริมาณน้อย ๆ ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันที่ทำการรักษา ทั้งนี้ การแชร์ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ต้องระวังกันมากขึ้น เพราะมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารรักษาโรค รวมไปถึงผักผลไม้ต่าง ๆ บ้างก็ระบุว่ารักษาโรคมะเร็ง โรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ ตรงนี้ต้องระวัง เพราะหากไม่มีงานวิจัยใดยืนยันอาจเสี่ยงอันตราย
ผศ.ศิริพร ตันติโพธิ์พิพัฒน์ นักวิจัยสถาบันโภชนาการ กล่าวว่า จริง ๆ มีการศึกษาพืชผักหลายชนิด แต่จากการคัดเลือกพบว่า มะรุมมีประสิทธิภาพในอันดับต้น ๆ โดยพิจารณาเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตอบสนองเมื่อเกิดการอักเสบต่าง ๆ ขึ้น ทีมวิจัยได้สกัดสารในพืชผัก 10 ชนิด เพื่อดูประสิทธิภาพว่าลดการอักเสบได้มากน้อยแค่ไหน มีฝักมะรุม ผักชีฝรั่ง ชะอม สะตอ มะระจีน ฝักทอง บวบเหลี่ยม บวบ ถั่วพู และมะเขือยาว โดยพบว่า ฝักมะรุม และผักชีฝรั่ง มีฤทธิ์ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเลือกรับประทานอย่างไร ไม่ให้เกิดอันตราย ผศ.ชนิพรรณ กล่าวว่า การรับประทานเป็นอาหารไม่น่ากังวล กินมากอย่างไรก็จะถูกจำกัดด้วยความอิ่ม จึงไม่ทำให้ได้รับปริมาณมากเกินไป แต่ที่กังวล คือ การไปกินพวกผลิตภัณฑ์แคปซูลต่าง ๆ จะทำให้ไม่ได้รับปริมาณที่เหมาะสม กินมากจะส่งผลต่อการทำงานของตับ ยิ่งในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ยิ่งต้องระวัง ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาด้วยดีที่สุด และไม่ควรเชื่อข้อมูลในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ทั้งที่ไม่มีงานวิจัยใดรองรับ หลายคนเชื่อจนไม่กินยา ไม่รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่ถูกต้องและเสี่ยงอันตราย เพราะขาดโอกาสการรักษาให้หายขาด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่