xs
xsm
sm
md
lg

การแพ้กลูเตนกับการเสื่อมของกระดูก / ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในแป้ง มีคุณสมบัติให้เกิดความหนืดและยืดหยุ่น สามารถพบได้ในกลุ่มข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ อาหารที่อาจมีส่วนผสมของกลูเตน เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวสาลี (ขนมเค้ก โดนัท คุกกี้ ขนมปัง เส้นพาสต้า ซีเรียล ซ๊อสถั่วเหลืองหมัก แป้งชุบแป้งทอด เบียร์ เนื้อเทียมสำหรับมังสวิรัติ)

สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนเมื่อได้รับอาหารที่มีกลูเตนระบบการย่อยและดูดซึมอาหารจะไม่สามารถทำได้อย่างปกติ ระบบภูมิคุ้มกันอัตโนมัติของร่างกายจะผลิตแอนติบอดี หรือตัวต้านของร่างกายออกมาตอบสนองต่อวิไล (ตัวดูดซึมอาหารที่อยู่ในบริเวณลำไส้เล็ก) ให้ทำลายวิไลที่มีกลูเตนเกาะอยู่ ทำให้เกิดการบวมแดงและอักเสบในบริเวณลำไส้

อาการที่แสดงออกหลังได้รับอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน คือ ปวดท้อง เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องอืด มีลมในทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ ปวดตามข้อมีอาการอักเสบของร่างกาย และหากยังคงได้รับกลูเตนอยู่เป็นประจำก็จะส่งผลทำให้การดูดซึมอาหารของร่างกายเสียไปด้วย ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง

เมื่อไม่นานมานี้ มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism โดยพบว่าผู้ที่มีการแพ้กลูเตนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการหักของกระดูกในร่างกายมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงต่อการหักของกระดูกบริเวณสะโพกโดยเฉพาะมากกว่า 69 เปอร์เซ็นต์

แนวทางสำหรับผู้แพ้กลูเตนและป้องกันการเสื่อมของกระดูก

•ในระยะแรกต้องปรับสภาพของวิไลในลำไส้เล็กให้กลับมาดีก่อนเพื่อที่ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ต้องรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตน อาหารในกลุ่มข้าวแป้งควรเน้นที่ไม่มีกลูเตน เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง แป้งที่ทำมาจากข้าวเจ้า เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เส้นพาสต้าจากข้าว เผือก มัน เพิ่มปริมาณอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น เพราะคนที่กลัวกลูเตนส่วนมากจะรับประทานอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์เยอะทำให้ได้รับใยอาหารน้อยกว่าที่ควรได้รับ ตามข้อแนะนำเพื่อสุขภาพแล้วควรได้รับใยอาหารวันละ 25 - 30 กรัม โดยเฉพาะผู้ชายควรได้รับใยอาหารมากกว่าผู้หญิง แต่ในความเป็นจริงผู้ชายมักได้รับประมาณใยอาหารน้อยกว่าที่แนะนำทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้มากว่า อาหารที่เป็นแหล่งของใยอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชเช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วดำ และ ข้าวกล้อง

•เมื่อร่างกายกลับสู่สภาพการดูดซึมที่ปกติแล้วควรได้รับจุลินทรีย์ (Probiotic) เนื่องมาจากการที่ลำไล้อักเสบจากการแพ้กลูเตนนั้น จะทำให้จุลินทรีย์ที่ดีที่มีอยู่ในลำไส้ลดปริมาณลง ดังนั้น จึงควรได้รับจุลินทรีย์ที่ดีเข้าไปเพิ่มเติม แหล่งของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหาร เช่น โยเกิร์ต ผักดอง (กิมจิ) ข้าวหมาก และควรรับประทานผักในกลุ่มที่เป็นพรีไบโอติก (Prebiotics) ที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต แข็งแรง และทำลายจุลินทรีย์ที่ไม่ดีต่อร่างกาย การที่ร่างกายมีจุลินทรีย์ที่ดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและลดการสูญเสียมวลกระดูกลง

•ลดการรับประทานอาหารทอดน้ำมันเป็นประจำ เนื่องจากน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันทอดซ้ำจะทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบได้ง่ายและลดการดูดซึมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมถึงวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อกระดูกด้วย

•รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม เช่น นม ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง หากแพ้นมควรเลือกแหล่งของแคลเซียมอื่นให้หลากหลาย เช่น ผักสีเขียวเข้ม ธัญพืช (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว) และถั่วเปลือกแข็ง

•รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดี เช่น ปลาทะเล ไข่

•รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแมกนีเซียม เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่ว อะโวคาโด ผักสีเขียวเข้ม

•ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก เช่น ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น