xs
xsm
sm
md
lg

คู่รักร่วมเพศได้ลูกอุ้มบุญคืนจากหญิงไทยยาก สบส.ส่งชื่อหมอให้แพทยสภาเอาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คู่รักร่วมเพศได้ลูกอุ้มบุญจากหญิงไทยยาก เหตุเด็กเกิดก่อนมี พ.ร.บ.อุ้มบุญ ถือเป็นลูกของหญิงตั้งครรภ์แทน สบส. เผยพ่อแม่ที่ขอให้มีการอุ้มบุญ ยื่นร้องศาลขอเป็นบุตรตามกฎหมายได้ แต่ต้องเป็นคู่สมรสตามกฎหมายไทยกำหนด พร้อมส่งชื่อหมอทำอุ้มบุญคู่รักร่วมเพศให้แพทยสภาพิจารณาเอาผิด ด้าน พม. ระบุขอบุตรบุญธรรมไม่ได้ เหตุกฎหมายไทยไม่ครอบคลุมคู่รักร่วมเพศ และต้องยื่นเรื่องผ่านองค์กรที่ประเทศต้นทางกำหนด

จากกรณี นายกอร์ดอน เลค ชาวอเมริกัน และ นายมานูเอล วาเลอโร ชาวสเปน คู่รักร่วมเพศ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทย เพื่อนำลูกที่เกิดจากการทำอุ้มบุญจากหญิงชาวไทยกลับประเทศ แต่ไม่สามารถนำเด็กออกนอกประเทศได้ เนื่องจากแม่อุ้มบุญปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสาร

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ ดังนั้น จึงยังต้องใช้กฎหมายดั้งเดิมในการพิจารณา คือ เด็กเป็นลูกของแม่ที่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีบทเฉพาะกาล ระบุว่า สามีหรือภริยาที่ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือพนักงานอัยการ มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลให้มีคําสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ บังคับใช้ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ไม่ว่าจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม กรณีนี้อาจต้องยื่นขอการเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งอยู่ในอำนาจที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งคู่พ่อแม่จะต้องผ่านการประเมินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเบื้องต้นกฎหมายไทย ยังยึดความเป็นสามีภรรยาตามที่กฎหมายไทยกำหนด

นพ.ธเรศ กล่าวว่า พ.ร.บ.อุ้มบุญ จะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีการกำหนดกติกาที่มีความชัดเจนกว่าปัจจุบัน เพื่อควบคุมทั้งสถานพยาบาล คู่สามีภรรยาที่ต้องการอุ้มบุญ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ซึ่งภายหลังจากกฎหมายบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายคุ้มครอง พัฒนา เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีความรัดกุมมากขึ้นในประเด็นต่าง ๆ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาประกาศเพื่อออกข้อบังคับใช้ที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการยกร่างประกาศทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการออกประกาศอยู่แล้ว เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการออกประกาศต่าง ๆ

“หลังจากนี้ การอุ้มบุญจะมีรายละเอียดที่ควบคุมทั้งสถานพยาบาลและครอบครัวผู้ที่จะอุ้มบุญ เช่น ต้องมีการขออนุญาตเป็นราย ๆ และขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วัน คุณสมบัติของผู้ที่จะดำเนินการอุ้มบุญ ต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่มีสัญชาติไทย คนใดคนหนึ่ง และต้องเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติ แต่ต้องไม่ใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดาน กรณีที่ไม่มีญาติ ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ รมว.สาธารณสุข ห้ามดำเนินการเพื่อประโยชน์ทางการค้า ห้ามมีคนกลางหรือนายหน้า เป็นต้น” รองอธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับการเอาผิดทางกฎหมายในกรณีนี้ยังต้องใช้กฎหมายเดิม คือ ข้อบังคับแพทยสภาที่ระบุว่าการอุ้มบุญ จะทำไม่ได้ในกรณีการว่าจ้าง หรือให้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตั้งครรภ์ และหญิงนั้นไม่ใช่ญาติ ซึ่งตรงนี้ได้ส่งชื่อของแพทย์ผู้ทำการอุ้มบุญไปให้แพทยสภาพิจารณาแล้ว ส่วนของ สบส. เอาผิดได้ในส่วนของคลินิกที่ให้บริการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งปิดคลินิกแห่งนี้ไปแล้ว ส่วนในเรื่องการคุ้มครองเด็กที่คลอด หรือการดำเนินการเอาผิดกฎหมายเรื่องอื่น ๆ อาจต้องสอบถามไปทาง พม.

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า สบส. ได้ส่งชื่อแพทย์ผู้ทำการอุ้มบุญรายดังกล่าวมาให้แพทยสภาแล้ว ขณะนี้ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการด้านจริยธรรมของแพทยสภาก่อน ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน โดยยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเอาผิดได้ในระดับใดบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศชาวต่างชาติอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม คือ ผู้ขอรับเด็กจะต้องมีอายุเกินกว่า 25 ปี และต้องมากกว่าเด็กอย่างน้อย 15 ปี จะต้องมีคู่สมรส เว้นแต่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย และจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศ ที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่ และจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย

นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า เท่าที่ทราบการทำอุ้มบุญในรายนี้มีการดำเนินการผ่านเอเยนซี ซึ่ง พ.ร.บ.อุ้มบุญ ระบุชัดเจนห้ามมีการดำเนินการผ่านนายหน้า แต่เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีการบังคับใช้ ก็คงต้องรอหลังกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการ กคทพ. ขึ้น ว่า จะมีการประชุมหารือในเคสการทำอุ้มบุญที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. มีการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เคสนี้ถือว่ามีประเด็นความขัดแย้งกันอยู่ก็คงต้องเข้าไปตรวจสอบ ส่วนคู่รักร่วมเพศชาวต่างชาติหากจะอาศัยกระบวนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อนำออกนอกประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะตามกฎหมายไทยต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยิ่งเป็นชาวต่างชาติจะต้องมีการประสานผ่านองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศนั้น ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประเทศต้นทางมีกฎหมายอนุญาตเรื่องการจดทะเบียนสมรสในเพศเดียวกัน สามารถยื่นเรื่องขอรับเด็กในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ นางระรินทิพย์ กล่าวว่า ไม่ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ต้นทางจะอนุญาตให้จดทะเบียนได้ แต่ยังต้องยึดตามกฎหมายไทยที่จะต้องเป็นคู่สามีภรรยาตามกฎหมาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น