xs
xsm
sm
md
lg

ไทยป่วยวัณโรคพุ่งอันดับ 18 ของโลก เร่งค้นหา 8 กลุ่ม สกัดเชื้อดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยอดป่วยวัณโรคในไทยพุ่งอันดับ 18 ของโลก พ่วงเชื้อดื้อยา สธ. ตั้งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ 20% จัด 3 ยุทธศาสตร์ เน้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ในคน 8 กลุ่ม นำเข้าระบบรักษา สร้างเครือข่ายติดตาม

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานประชุมวิชาการวัณโรคและโรคระบบทางการหายใจระดับชาติ ประจำปี 2558 จัดโดยกรมควบคุมโรค (คร.) ร่วมกับ สมาคมปราบวัณโรคฯ ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคสูงเป็นอันดับที่ 18 ของโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 22 ของโลก และยังมีปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาจำนวนมาก โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เช่น กทม. เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหากลุ่มโรคถุงลมโป่งพอง และโรคติดเชื้อ ที่สามารถติดต่อกันได้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเฝ้าระวังป้องกันในกลุ่มโรคเหล่านี้ด้วย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 9 ล้านราย แต่เข้าถึงการรักษาเพียง 6 ล้านรายเท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 พบผู้ป่วยจำนวน 113,900 ราย แต่ลงทะเบียนการรักษาเพียงร้อยละ 60 หรือ 67,000 ราย ส่วนผู้ป่วยดื้อยารักษาวัณโรคหลายขนานพบร้อยละ 2 ส่วนผู้ป่วยรายเก่าดื้อยาร้อยละ 19 ทำให้ต้องเสียค่ารักษาสูงกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า จากหลักแสนบาทเป็นหลักล้านบาท สธ. จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 เน้นหนัก 3 เรื่อง คือ ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาเครือข่ายและระบบดูแล เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดขาดยา และป้องกันเชื้อดื้อยา โดยมีเป้าหมายลดอัตราผู้ป่วยรายใหม่ลงร้อยละ 20 จาก 170 ต่อแสนประชากรให้เหลือ 136 ต่อแสนประชากร ผู้ป่วยวัณโรคทุกคนจะได้รับการรักษาฟรี การรักษาจะช่วยตัดการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยนั้นจะเริ่มตั้งแต่ยังไม่มีอาการ มี 8 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ มีอาการป่วยไม่ชัดเจน แต่พบเชื้อวันโรคในเสมหะ ปอดผิดปกติ 2. ผู้ป่วยเบาหวาน 3. ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี 4. แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีอัตราป่วยสูงกว่าคนไทย 2 เท่าตัว 5. ผู้ใช้สารเสพติด 6. ผู้ต้องขังในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีอัตราป่วยสูงกว่าคนทั่วไป 7 - 10 เท่า 7. ผู้คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค 8. บุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้การรักษาหายขาดทุกคน ขณะนี้ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการชันสูตรของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) 12 แห่งให้ตรวจเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ นอกจากนี้ ยังจะสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชน สร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อการรักษา สร้างระบบพี่เลี้ยงติดตามกำกับการกินยาครบสูตรทุกวันอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยจึงจะหายขาด ไม่เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาที่ต้องใช้ระยะเวลารักษานานถึง 2 ปี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น