xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงกองทุนโลกตัดงบ ทำผู้ป่วยวัณโรคพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ทรงคุณวุฒิวัณโรค ชี้ วัณโรคดื้อยาเกิดจากคนป่วยกินยาไม่ครบ สถานพยาบาลไม่ติดตาม ไม่เกี่ยว สปสช. แนะ สธ.- สปสช. ทำงานตามบทบาทเต็มที่ ห่วงกองทุนโลกตัดงบประมาณ คาด มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่ม เหตุไม่มีงบดูแลแรงงานต่างด้าว กม.บัตรทอง ไม่ครอบคลุม จี้หาทางแก้ไข

นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัณโรค กล่าวว่า สาเหตุการดื้อยาวัณโรคมาจากการที่คนไข้กินยาไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด และหน่วยบริการไม่ติดตามการรักษา หรือ อาจจะมาจากทั้งสองสาเหตุ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรยาวัณโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ต้องทำงานในบทบาทของตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช. ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล ที่น่ากังวลคือ หลังจากที่กองทุนโลกได้ตัดงบประมาณให้ความช่วยเหลือด้านการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวี และ โรคเอดส์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคลงทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไร

จำนวนแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวที่กระจายอยู่ในเมืองไทยนั้น ประมาณการว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ แต่ส่วนใหญ่นั้นมาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลที่มี สธ. บริหารจัดการได้ หากเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรง เช่น เอชไอวี วัณโรค ใครจะเป็นผู้ดูแล เพราะเดิมมีเงินจากกองทุนโลกเข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้ แต่เมื่อไม่มีกองทุนโลกแล้วจะหันหน้าไปพึ่งใคร ถ้าจะให้ สปสช. ดูแล ตามกฎหมายก็บอกว่าให้ดูแลเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชน ถ้าเปลี่ยนเป็น สธ. ที่เน้นพัฒนากระบวนการป้องกัน ดูแล รักษาพยาบาล ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ แต่ไม่มีงบประมาณให้สำหรับการรักษาผู้ป่วย” นพ.ยุทธิชัย กล่าว

นพ.ยุทธิชัย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติและครอบครัว ล้วนแต่ยังคงอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ เร่งกระบวนการเปลี่ยนนิยามของคนที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพจากการดูแล “คนไทย” ให้ครอบคลุมถึง “คนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย” เพราะเมื่อมีโรคติดต่อจากแรงงานข้ามชาติระบาดในเมืองไทย ก็หนีไม่พ้นที่ “คนไทย” ต้องเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้น ขอให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจาทำความเข้าใจกับประเทศในอาเซียนให้ร่วมกันลงขัน เพื่อเป็นกองทุนดูแลรักษา ป้องกันโรคให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือหารือกับบริษัทใหญ่ ๆ ในไทยให้ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนดูแล หากไม่เร่งดำเนินการคาดว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเมืองไทยจะมีมากขึ้นแน่นอน เราคงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติที่เป็นวัณโรคให้กลับไปรักษาที่ประเทศของเขาได้เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรค เพราะสุ่มเสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าไม่มีมนุษยธรรม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น