โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
แม้ปัญหาตาบอดของคนไทยจะมีสาเหตุมาจาก โรคตาต้อกระจก เป็นอันดับ 1 ก็ตาม แต่การใส่คอนแทคเลนส์แบบผิดๆ และไม่ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ให้ดีนั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาติดเชื้อ จนลุกลามจนถึงขั้นต้องสูญเสียดวงตาและการมองเห็นอย่างถาวรได้เช่นกัน
คราวนี้มาดูกันว่า การใช้งานคอนแทคเลนส์แบบผิดๆ มีอะไรกันบ้าง
นพ.ธีรวีร์ หงส์หยก ประธานคณะอนุกรรมการข่าวสารสัมพันธ์เพื่อประชาชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้คนนิยมใส่คอนแทคเลนส์มากขึ้น เพื่อความคล่องตัวที่มากกว่าการสวมแว่น ส่วนวัยรุ่นนิยมใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงาม หรือ แฟชั่น เช่น ใส่คอนแทคเลนส์สีเพื่อเปลี่ยนสีดวงตา การใส่บิ๊กอาย ซึ่งจริงๆ แล้วในสหรัฐอเมริกา ถือว่าการใส่คอนแทคเลนส์ตาโตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมืองไทยยังคงไม่สามารถควบคุมได้ จึงเห็นการขายกันเกลื่อนเมือง ซึ่งเลนส์ที่มีขนาดใหญ่ไม่พอดีกับกระจกตา ซึ่งคอนแทคเลนส์ปกติก็ทำให้ออกซิเจนเข้าไปถึงดวงตายากแล้ว ยิ่งคอนแทคเลนส์สี ซึ่งไม่ทราบว่าใช้สีอะไรมาทำ ก็ยิ่งไปป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าถึงดวงตาเข้าไปอีก จึงทำให้ดวงตาอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบการใช้คอนแทคเลนส์แบบผิดๆ ทั้งการซื้อคอนแทคเลนส์มือสอง หรือการยืมคอนแทคเลนส์สีของเพื่อนมาใส่ เพราะเห็นว่าสวยดี สิ่งเหล่านี้ไม่สมควรทำ เพราะปกติดวงตาเราจะมีเชื้อแบคทีเรียเกาะอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่เมื่อใส่คอนแทคเลนส์เชื้อเหล่านี้ก็จะไปเกาะอยู่ที่คอนแทคเลนส์ ทำให้เมื่อนำของมือสอง หรือของคนอื่นมาสวม อาจได้รับเชื้อติดผ่านทางตาได้ รวมไปถึงการใส่คอนแทคเลนส์แล้วนอนหลับ แม้จะมีการโฆษณาอออกมาว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนี้ใส่นอนหลับได้ ก็ไม่ควรทำ เพราะเอื้อต่อการติดเชื้อมากขึ้น หรือแม้แต่การรักษาโรคทางตาบางอย่าง ที่ต้องใส่คอนแทคเลนส์นอน เช่น ใส่คอนแทคเลนส์นอนเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ตื่นเช้ามาถอดออก เพื่อปรับค่าสายตานั้น ก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วยซ้ำ จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำ
“บางรายติดเชื้อแล้วรักษาได้ก็ดีไป แต่บางคนติดเชื้อแล้วแม้จะรักษาได้ แต่กระจกตาขุ่นมัว ไม่ใสเหมือนเดิม ทำให้มีปัญหาการมองเห็นไปตลอดชีวิต หากจะรักษาก็ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา แต่ดำเนินการได้ยาก เพราะประเทศไทยยังมีการบริจาคกระจกตาที่น้อยอยู่”
สำหรับการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ นพ.ธีรวีร์ ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากเก็บรักษาไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
“ถ้าจำเป็นต้องใช้คอนแทคเลนส์ต้องดูแลรักษาให้ดี ลดโอกาสการที่คอนแทคเลนส์จะสัมผัสกับน้ำ โดยเฉพาะการอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือแม้แต่แช่น้ำก็จำเป็นต้องถอดออก โดยการใช้คอนแทคเลนส์นั้น ก่อนจับจะต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือทิชชูที่ไม่เป็นขุย เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีอาการตาแห้ง แนะนำว่าควรใช้ยาหยอดตาก่อนใส่คอนแทคเลนส์ หรือระหว่างวันก็ควรถอดคอนแทคเลนส์ก่อนแล้วค่อยหยอดตา แต่หากจะหยอดตาระหว่างใส่คอนแทคเลนส์ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องเลือกน้ำยาหยอดตาที่ระบุว่าผสมสารกันบูดแบบสลายได้ หรือไม่ใส่สารกันบูด เพราะจะมีความอ่อนโยนกว่า และป้องกันสารกันบูดไปเกาะกับเลนส์จนเกิดความผิดปกติของดวงตาได้ ทั้งนี้ ยาหยอดตาแบบไม่มีสารกันบูด อายุการใช้งานจะน้อยแค่ 1 วัน เหมาะกับคนที่ตาแห้งมากๆ ต้องหยอดบ่อยๆ”
นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า ส่วนหลังถอดคอนแทคเลนส์นั้น ให้ล้างคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ แต่ที่พบส่วนมากมักจะแช่ไว้เฉยๆ ในตลับ ซึ่งไม่ถูกต้อง จะต้องมีการถูและล้างระหว่างอุ้งมือและนิ้วมือด้วย จากนั้นจึงค่อยแช่ในน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ในตลับ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า จะฆ่าเชื้อโรคได้มากกว่า ที่สำคัญห้ามล้างคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำเปล่า ส่วนตลับใส่คอนแทคเลนส์ควรใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทำความสะอาดด้วย และคว่ำไว้ให้แห้ง ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างเช่นกัน นอกจากนี้ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ต้องใช้ของใหม่เสมอ เพราะของเก่าจะมีเชื้อโรคปน ไม่ควรถ่ายใส่ภาชนะอื่นเพื่อพกพาไปข้างนอก เพราะอาจติดเชื้อจากภาชนะอื่นได้ ส่วนคนนานๆ ใส่คอนแทคเลนส์ที ไม่ควรแช่คอนแทคเลนส์นานๆ เพราะน้ำยาล้างจะเสื่อมประสิทธิภาพลง ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ต้องเปลี่ยนน้ำยาบ่อยๆ หรือใช้แบบรายวันจะดีกว่า
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่