ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ เผย "ตาต้อกระจก" สาเหตุทำคนไทยตาบอดอันดับ 1 สะท้อนการเข้าถึงบริการแย่ ร่วม สธ.เร่งคัดกรองผู้มีภาวะตาบอดจากตาต้อกระจกเข้าสู่ระบบบริการ หวังขจัดปัญหาก่อนปี 2560 ห่วงใส่คอนแทคเลนส์มั่ว ซื้อแบบมือสองมาใส่ ดูแลรักษาไม่ดี เสี่ยงภาวะติดเชื้อ ทำตาบอด
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่อาคารสาทรสแควร์ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2558 ถือเป็นช่วงครบรอบ 100 ปี ที่มีจักษุแพทย์ในประเทศไทย และครบรอบ 20 ปีในการก่อตั้งราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะตาบอดในประเทศไทยในปี 2555 พบว่า อัตราตาบอดของประเทศไทยอยู่ที่ 0.6% ซึ่งสูงกว่าเป้าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือต้องไม่เกิน 0.5% ซึ่งอัตราาการเกิดภาวะตาบอดนั้นพบว่า เกินครึ่งมาจากภาวะตาต้อกระจก คือ 69.7% ที่เหลือมาจากโรคจอประสาทตา 13.2% ต้อหิน 4% และความผิดปกติของสายตา 4% สำหรับภาวะตาต้อกระจกเกิดจากแก้วตาขุ่น ทำให้มองไม่ชัด ซึ่งหากต้อสุกเต็มที่จะเห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา ส่วนการรักษาจะใช้วิธีสอดเครื่องมือเล็กๆ เข้าไปย่อยสลายแก้วตาที่ขุ่นออกไป และใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวสามารถแก้ปัญหาได้เลย
"การพบภาวะตาบอดจากตาต้อกระจกจำนวนมาก เป็นการสะท้อนว่าการเข้าถึงบริการยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะตาบอดจากตาต้อกระจกได้เข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้จัดโครงการสาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปภายในปี 2560 ซึ่งจะเร่งคัดกรองผู้ที่ตาบอดจากตาต้อกระจกให้เข้าสู่ระบบบริการมากขึ้น โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ได้เข้าไปร่วมดูแลในเรื่องมาตรฐานการคัดกรองผู้ป่วย การผ่าตัดต้อกระจก และการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด" นพ.ไพศาล กล่าว
ด้าน นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก ประธานคณะอนุกรรมการข่าวสารสัมพันธ์เพื่อประชาชน ราวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ กล่าวว่า นอกจากปัญหาตาต้อกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาตาบอดแล้ว ที่น่าห่วงคือการตาบอดจากภาวะกระจกตาขุ่น ทั้งที่สามารถป้องกันได้ โดยภาวะกระจกตาขุ่นเกิดจากการติดเชื้อถึง 35.6% สาเหตุหลักมาจากการนิยมใส่คอนแทคเลนส์ การเกิดอุบัติเหตุกับดวงตาต่างๆ จนทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะการใส่คอนแทคเลนส์ที่มักพบว่า ชอบใส่ค้างไว้เวลานาน การใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นตาโตหรือบิ๊กอาย การซื้อคอนแทคเลนส์มือสอง หรือขอยืมคอนแทคเลนส์สีของเพื่อนมาใส่ เพราะเห็นว่าสวยดี รวมไปถึงการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีก็เอื้อต่อการติดเชื้อที่ดวงตาได้ง่ายขึ้น
"การแช่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์เพียงอย่างเดียวในตลับไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อ โดยการล้างคอนแทคเลนส์จะต้องใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ถูและล้างระหว่างอุ้งมือและนิ้วมือ จากนั้นจึงค่อยแช่น้ำยาในตลับ และจขะต้องเปลี่ยนน้ำยาใหม่ทุกครั้งไม่ใช้ของเก่าเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังต้องล้างตลับใส่เลนส์ด้วย ซึ่งทั้งหมดห้ามใช้น้ำเปล่าในการล้าง และก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ เช็ดมือให้แห้ง ที่สำคัญต้องถอดคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนสัมผัสน้ำ ทั้งอาบน้ำ ว่ายน้ำ แช่น้ำ ไม่ใช่คอนแทคเลนส์เกินระยะเวลากำหนด ส่วนผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์นานๆ ครั้งแนะนำให้ใช้แบบรายวันจะดีกว่า เพราะการแช่คอนแทคเลนส์ทิ้งไว้ในตลับนานๆ น้ำยาจะเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้" นพ.ธีรวีร์ กล่าว
นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับสายตาที่พบมากในปัจจุบันอีกเรื่องคือ คอมพิวเตอร์ วิชัน ซินโดรม ที่เกิดจากาการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน มักเกิดอาการล้าตา ตาแห้ง แสบตา แพ้แสง สู้แสงไม่ได้ ตามัว ปวดศีรษะ ปวดคอ บ่าไหล่ ซึ่งศึกษาพบว่าคนใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเกิน 3 ชั่วโมงต่อวันประมาณ 70% มักเกิดโรคดังกล่าว และพบได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 40 ปี สาเหตุมาจากการกระพริบตาน้อยลงกว่า 60% การเพ่งระยะใกล้ แสงสะท้อนอื่นจากหน้าจอรวมไปถึงการจัดท่านั่งไม่เหมาะสม ดังนั้น ผู้ใช้งานจะต้องเตือนตัวเองให้กระพริบตาบ่อยๆ ใช้งาน 20 นาที พักสายตาทุก 20 นาที โดยการมองไกล 20 เมตร หรือหลับตา หรือใช้น้ำตาเทียมล่อลื่นกระจกตา จัดมุมการใช้งานไม่ให้แสงจากสิ่งแวดล้อมตกกระทบหน้าจอ และจัดท่านั่งให้เหมาะสม หน้าจอต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย มือวางที่คีย์บอร์ดระดับศอก หลังและคอตรง พิงพนัก เท้าวางบนพื้นหรือที่รอง เข่าสะโพกงอ 90-110 องศา เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่