xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปงขบวนการงาบงบงานวัฒนธรรมท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดโปงขบวนการ อปท. งาบงบท้องถิ่น จัดงานวัฒนธรรม พบหลายพื้นที่เซตโครงการลอยๆ ขอเงินอุดหนุน แบ่งเค้กก้อนโตถ้วนหน้า ส่วนหน่วยตรวจสอบภายในไม่กล้ารายงานข้อเท็จจริง หวั่นเก้าอี้หลุด

วันนี้ (8 มิ.ย.) โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม ประจำปี 2558 ทั้งนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายให้ อปท. ซึ่งมีส่วนใกล้ชิดกับคนในชุมชนได้มีส่วนส่งเสริมความร่วมมือกับ สวธ. เพื่อสืบสานมรดกชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแสดงพื้นบ้านของศิลปินท้องถิ่นโดยส่งเสริมการจ้างงาน การอนุรักษ์ภาษาถิ่น การจัดในวันภาษาไทยช่วงเดือนกรกฎาคม รวมถึงการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยพื้นถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏว่าประชาชนให้ความร่วมมือใส่ผ้าไทยมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายวีระ กล่าวเปิดงาน ได้มีกลุ่มผู้แทนของ อปท. หลายจังหวัดเข้ามาขอหารือถึงปัญหาเกี่ยวกับ การสนับสนุนงบประมาณด้านวัฒนธรรมที่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปจ้างงานการแสดงใน ท้องถิ่นได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะท้วงติงและมีการตรวจสอบรายละเอียดการจัดแสดงอย่างเข้มงวด อีกทั้งบางงานที่มีการจัดจ้างการแสดง การละเล่นต่างๆ แม้จะมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว บางครั้งก็จะถูกเรียกเงินคืน เพราะว่าไม่เป็นไปตามระเบียบทางราชการเป็น ผลให้ที่ สตง. ไม่ให้เบิกจ่าย ทั้งที่มีการตั้งงบประมาณไปแล้ว จึงอยากให้ทางมีหน่วยงาน หรือ ทาง สตง. เข้าไปชี้แจงถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณสำหรับการจัดแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อให้ตรงกับระเบียบราชการ และเป็นการส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรม ของชาติให้คงอยู่ ดังนั้น นายวีระ จึงได้สั่งการให้ สวธ. รวบรวมปัญหาด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะปัญหาการจัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อนำเสนอในต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ด้าน ดร.สาธิต กฤตลักษณ์ เลขาธิการนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการด้านวัฒนธรรมแบบถูกกฎหมาย โดยบรรจุในแผนประจำปีงบประมาณที่ชัดเจน ขณะที่ต้องยอมรับว่า อปท. หลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาการจัดงานวัฒนธรรม เนื่องจากไม่มีที่มาที่ไปของการจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาให้ สตง. เพ่งเล็งตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อปท. เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ขณะนี้มีนายก อปท. เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ซึ่งไม่ทราบระเบียบพัสดุการใช้จ่ายงบประมาณ และ มักเชื่อปลัดเทศบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำโดยเชื่อว่า สามารถจัดงบสนับสนุนโครงการต่างๆ ได้ เพราะต้องการนำเงินออกมาใช้ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีการจัดตั้งโครงการแบบลอยๆ ที่ไม่ผ่านการรับรองจากสภาท้องถิ่น หรือไม่มีการจัดขึ้นจริง เมื่อโดน สตง. ตรวจสอบว่าผิด จึงเรียกเงินคืนไปหลายพื้นที่

“ทั้งนี้ การทำโครงการที่ถูกต้อง จะต้องมีการศึกษาที่มาที่ไป ระยะเวลา หน่วยงานที่ทำ รายละเอียดจำนวนเงิน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมีนายก อปท. บางคนไม่เข้าใจการบริหารการคลัง อยากได้ทุนคืน ในการเข้าสู่ตำแหน่ง จึงเซตจัดงานขึ้นมา เพื่อใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นที่มี ซึ่งไม่ใช่การจัดตั้งโครงการ เพราะถ้าเป็นโครงการจะต้องผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาท้องถิ่นก่อน ดังนั้น จึงมีการสร้างเรื่องขึ้นมาเป็นโครงการสมมติ และผันเงินให้กลายเป็นเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ สตง. เรียกเงินคืน และมอง อปท. ไปทางลบ” ดร.สาธิต กล่าว

เลขาธิการนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า อันที่จริงในทางปฏิบัติ อปท. มีหน้าที่ส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นอยู่แล้ว เป็นหน้าที่หลักของ อปท. ทุกระดับ อาทิ งานสงกรานต์ แห่เทียน ลอยกระทง ฟังเทศน์ เข้าวัด ฟังธรรม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม และการที่ สตง. มองว่า เงินไม่ถึงโครงการจริงๆ แต่จะไปตกที่ข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง ผู้บริหารส่วนหนึ่ง และเงินไม่ตกถึงประชาชน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด มีมากถึง 80% ซึ่งถือว่ามีการกินรวบ ที่ร่วมมือทำเป็นขบวนการ อาทิ หมู่บ้านหนึ่งจะจัดงานบุญบั้งไฟ แต่มีเงินน้อยมาก โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รวมถึงชาวบ้านล่ารายชื่อ เขียนโครงการจรมาให้ นายก อบจ. ในพื้นที่ เพื่อขออนุมัติงบประมาณ 4 แสนบาท โดยให้เหตุผลสำคัญว่า เป็นงานประเพณี แต่เมื่อจัดจริง งานก็ไม่ใหญ่โต ทั้งนื้ เป็นเพราะก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายมีการคุยกันแล้วว่า จัดงานให้ได้ แต่ขอเงินทอนให้นายกด้วย ถึงจะตีเชคสนับสนุนให้ ทั้งหมดเป็นกระบวนการคนในองค์กร คนในหมู่บ้านร่วมกันทำเสร็จสรรพ และมีใบเสร็จออกมาเรียบร้อย ว่า จัดโครงการไป ทุกฝ่ายได้เงินกันครบ แถมเหลือเงินทอนคืนนายกตามสั่งด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของผู้จัดที่จะไปซื้อบิลอะไรมาก็ได้ ให้ผนวกครบค่าจัดงาน คนซื้อบิลก็ได้เงิน คนขายบิลก็ได้เงินอีกทอด

ถึงแม้ว่า อปท. จะมีหน่วยตรวจสอบภายในทุกที่ แต่ก็อยู่ภายใต้อำนาจปลัดเทศบาล อะไรที่ไม่ดีก็ไม่กล้าเขียนรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อตำแหน่ง และเสียชื่อองค์กร อย่างไรก็ตาม คิดว่าการสนับสุนนงานวัฒนธรรม ของ อปท. แต่ละพื้นที่ ไม่มีสูตรสำเร็จ ซึ่งบางพื้นที่ผู้นำท้องถิ่นไม่สนใจงานวัฒนธรรม เพราะงานวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ เป็นงานที่ไม่สามารถสร้างชื่อเสียงให้เค้ากลับมาดำรงตำแหน่งอีกได้ เพราะฉะนั้น จึงมีงานสร้างถนน การไฟฟ้า ซึ่งมีผลงานชัดเจนกว่า และก็สลักชื่อตัวเองเป็นผู้สร้าง ทั้งที่ทั้งหมดเป็นเงินภาษีจากประชาชน ส่วนงานประเพณี ก็มีอยู่แต่ ลอยไปลอยมา นายกฯ ได้ขึ้นเวที ได้แจกรางวัล ได้ถ่ายภาพ ได้หน้า แต่ไม่มีความคงทนและไม่มีภาพชัดเจน ดังนั้น จึงถูกมองข้ามไปหมด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น