คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่า ณ วันนี้ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามออกมา “ฟันธง” ว่าทุกอย่างดีขึ้น เพราะการก่อเหตุร้ายลดลง จำนวนคนตายที่เป็นประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอมีตัวเลขน้อยลง เมื่อนำไปเทียบกับตัวเลขของปีที่ผ่านมา
มีการชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนั้น หนึ่งนั้นมาจากการใช้ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ” หรือ “ศปก.” ขับเคลื่อนเพื่อการดับไฟใต้ได้อย่างเป็นเอกภาพ ทำให้มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถที่จะสร้างการบูรณาการให้ทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานอย่างได้ผล
ล่าสุด มีการหยิบยกเรื่องของ “การพัฒนา” ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งตรงต่อความต้องการของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องการซ่อม/สร้างถนน จำนวน 37 สายทาง ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า เป็นตัว “ชี้วัด” ที่ชัดเจนว่าเป็นความพึงพอใจของชาวบ้าน ทำให้ “มวลชน” ที่เคยสนับขบวนการก่อการร้ายเริ่มถอยห่างเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐมากขึ้น
โดยเฉพาะเรื่อง “การเปิดพื้นที่พูดคุย” ระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และการพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในต่างประเทศ ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ได้รับการหนุนเสริมจากหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นผลบวกที่เกิดขึ้นในขณะนี้
แต่สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ ยังมีความพยายามที่จะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดจากแนวร่วมขบวนการต่างๆ อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง หลายพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย เช่น อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งล่าสุด มีการวางระเบิดชุดคุ้มครองครู และการเล่นสงครามข่าวสารด้วยการปล่อยข่าวรายวันเรื่องมีการทำคาร์บอมบ์ในพื้นที่เมืองหลวงของภาคใต้ นั่นคือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
บางพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซ้อน เช่นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานีที่มีการก่อเหตุร้ายหลายครั้ง รวมทั้งการมีรายงานข่าวจาก “สายข่าว” ของหน่วยข่าวความมั่นคงถึงการลำเลียงระเบิด 10 ลูก เข้าไปในพื้นที่เพื่อก่อเหตุร้าย
ล่าสุด สายข่าวของหน่วยข่าวความมั่นคงยังได้แจ้งเตือนว่า แนวร่วม หรือสมาชิกโจรก่อการร้ายมีแผนที่จะก่อเหตุร้ายใน อ.เมือง จ.ยะลา โดยเฉพาะใน “เขตเทศบาลนครยะลา” เน้นที่ศูนย์การค้า ย่านบันเทิง สถานที่ราชการ จุดตรวจ ที่ทำการปกครอง ไม่เว้นแม้แต่ “ศอ.บต.” ซึ่งสายข่าวอ้างว่าได้รับเบาะแสว่าจะมีการก่อการร้าย จากการฟังประชาชนในพื้นที่พูดคุย และการระวังป้องกันตนเองของคนในพื้นที่
ถือว่าเป็น “ข่าว” ที่ได้มาอย่างหลวมๆ ที่ต้องลงทุนในการป้องกัน เพราะจะต้องระวังป้องกันเหตุร้ายแบบ “เหวี่ยงแห” เอาไว้ก่อน เพราะจุดที่ถูกแจ้งเตือนกว้างขวางจนไม่สามารถจับจุดที่แน่นอนได้ และอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า เป็นกลยุทธ์ของแนวร่วมที่ “ปล่อยข่าว” เตรียมก่อการร้ายที่ อ.เมือง ยะลา แต่ไปก่อการร้ายจริงๆ ในพื้นที่อื่นๆ เหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวที่ถูกปล่อยออกมาที่น่าสนใจคือ มีรายงานข่าวถึงความเคลื่อนไหวของแนวร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นเครือข่ายของขบวนการ “ไอเอส” หรือ “ไอซิส” เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการในประเทศอิรัก ซีเรีย และอื่นๆ ตามการปลุกระดมเพื่อสร้างรัฐอิสลามให้เกิดขึ้น โดยมีการปล่อยข่าวว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของไอเอสแล้วกว่า 500 คน
ในขณะที่ในโลกของสังคมออนไลน์ ในเครือข่ายของแนวร่วมมีการ “แชร์ภาพ” และ “แชร์ข่าว” ของการเข้าร่วมกับขบวนการไอเอสอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นการปลุกระดมกลุ่มผู้ที่มีความเชื่อ และความคิดในเรื่องของ “รัฐอิสลาม” ซึ่งในบ้านเราเข้าใจว่านั้นคือพฤติกรรมที่สุดโต่ง
เรื่องข่าวการเข้าร่วมกับขบวนการไอเอสจะเป็น “ข่าวปล่อย” หรือ “ข่าวจริง” วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่จะบอกว่าใช่ หรือไม่ใช่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะถกเถียงกันในขณะนี้ แต่สิ่งที่ควรทำในขณะนี้คือ การตรวจสอบ การติดตาม หาข่าวความเคลื่อนไหวของเรื่องดังกล่าว และอย่างเพิ่งด่วนสรุปว่าเป็นเรื่องล้อเล่น
เพราะ ณ วันนี้มีข่าวสารที่ตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่า มีคนหนุ่มคนสาวของหลายประเทศในโลกใบนี้ที่มีความมุ่งมั่นเข้าร่วมกับขบวนการไอเอส เพื่อบรรลุถึงอุดมการณ์ ในขณะที่คนส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับไอเอสเพราะการหลงใหลในการโฆษณาชวนเชื่อ และในกลุ่มของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการไอเอสแล้ว
ดังนั้น ถ้าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเข้าร่วมกับไอเอสด้วยทำไมจะเป็นไปไม่ได้
วันนี้การมองเปลือกนอกด้วยสายตาของผู้บินสูงอย่าง “เหยี่ยว” อาจจะเห็นว่าสถานการณ์สงบลง และทุกอย่างดีขึ้น ไฟใต้ใกล้จะมอดดับ แต่ในสายตาของ “นกกระจิบ” ที่บินเรี่ยพื้น และคุ้ยเขี่ยอยู่ที่ผิวดินอาจจะมองเห็นต่าง และมองเห็นมิติอื่นๆ ที่เหยี่ยวมองไม่เห็น
เช่น การเปิดพื้นที่พูดคุยไม่ว่าจะเป็น “สันติภาพ” หรือ “สันติสุข” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกยังมองไม่เห็นความคืบหน้า ตราบใดที่ขบวนการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่อง “เฉพาะกิจ” ของผู้บริหารประเทศแต่ละคณะที่เข้ามาบริหารประเทศ
เพราะความต้องการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะ “บีอาร์เอ็น” ซึ่งยังเป็นพี่ใหญ่ของหัวขบวนการการพูดคุย และการก่อการร้ายต้องการให้การพูดคุยเป็น “วาระแห่งชาติ” หมายถึงว่า ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศไทยจะต้องสานต่อในภารกิจของการเจราจาหรือการพูดคุย
ดังนั้น เมื่อการพูดคุยเป็นเพียงเรื่องเฉพาะกิจ หาใช่วาระแห่งชาติ จึงเชื่อว่าเวทีการพูดคุยก็จะเหมือนกับการ “พายเรือในอ่าง” นั่นเอง
สุดท้ายสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นหรือไม่นั้น จะมองเพียงการพัฒนาพื้นที่ไม่ได้ หรือจะเอาแค่ผลงานสร้างถนน 37 สายมาเป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูตัวชี้วัดของ “ผู้คน” ในพื้นที่เป็นสำคัญ
ถามว่า 11 ปีที่ผ่านมา วิธีการดับไฟใต้ของทุกๆ รัฐบาล และแม้แต่รัฐบาลทหารในขณะนี้ สิ่งที่ใช้คือ “การให้” ใช่หรือไม่ สภาพของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้นที่ “มือล่าง” คือการขอใช่หรือไม่ และผ่านมา 11 ปีกับ 3 เดือน สังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีปรากฏการณ์ของ “มือบน” เกิดขึ้นแล้วหรือยัง
ถ้ากว่า 11 ปีที่ผ่านมาเห็นแต่ “มือล่าง” ในทุกเวที ในทุกสถานที่ ในทุกวาระของการพบปะระหว่างตัวแทนของรัฐกับตัวแทนขององค์กรและประชาชน เราคงจะสรุปไม่ได้ว่าไฟใต้กำลังจะมอดดับ เพราะถ้า “มือบน” หายไปไฟใต้อาจจะโชนแสงอย่างรวดเร็วก็ได้
เห็นภาพของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในภาคอีสานนำข้าวเปลือกจากยุ้งข้าวคนละกระสอบมารวมตัวกันในหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นกองข้าวเปลือก และแปรสภาพเป็นเงินเพื่อตั้งเป็นกองทุนแก้ปัญหายาเสพติด เป็นภาพที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาที่สามารถทำให้ประชาชนที่เป็นคนในพื้นที่มีสำนึกของความเป็น “มือบน” ที่ทำให้รู้ได้ทันทีว่าความสำเร็จของการแก้ปัญหายาเสพติดที่นั่นกำลังจะสำเร็จแล้ว
ถ้าภาพของความเป็น “มือบน” เกิดขึ้นบนแผ่นดินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาได้เมื่อไหร่ นั่นแหละคือตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าไฟใต้กำลังจะมอดดับ แต่ถ้าในทุกตารางเมตรของแผ่นดินนี้มีแต่ภาพของ “มือล่าง” สลอนไปหมด
กรุณาอย่า “หลอกตนเอง” ว่าเรากำลังใกล้สู่ “เส้นชัย” แล้ว