ข้อมูลวิจัยปัญหาแรงงาน แฉ! นักการเมือง - อดีต ขรก. ระดับสูง ก.แรงงาน มีเอี่ยวกับบริษัทจัดหาสูงถึง 70% จากบริษัทจัดหางานที่มีกว่า 200 แห่ง ชี้ทำให้เกิดจุดอ่อนในการดูแลคุ้มครองแรงงานไทย แนะแรงงานคุมเข้ม ปรับระบบปฐมนิเทศ - สัญญาจ้าง
ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นฐานแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการหลอกลวงแรงงานไทย ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงงานไทยจะได้รับเงิน คืนจากนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานเถื่อนเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่จ่ายไปทั้งหมด และยังมีปัญหาการทุจริตโดยพบว่าบริษัทจัดหางาน ทั้งหมดกว่า 200 แห่ง บางส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรืออดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงแรงงานเกือบร้อยละ 70 ทำให้บริษัทจัดหางานเหล่านี้จัดหาแรงงานโดยใช้อิทธิพลทางการเมืองและระบบราชการ ทำให้เกิดจุดอ่อนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานไทย นอกจากนี้ สัญญาจ้างงานก็เป็นปัญหามาก เนื่องจากกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ แรงงานสั้นๆ เพียงวันเดียว แม้จะทำสัญญาเป็นสองภาษา แต่แรงงานไทยกลับไม่ได้อ่าน และไม่รู้ว่าสัญญาเขียนไว้อย่างไร จึงเซ็นสัญญาไปโดยไม่รู้รายละเอียดและปัจจุบันในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางไม่ยอมรับสัญญาจ้างที่แรงงานลงชื่อไปจากประเทศไทย จะต้องไปทำสัญญาฉบับที่สองที่ประเทศปลายทาง ทำให้แรงงานไทยตกเป็นเบี้ยล่าง
ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวอีกว่า แม้กระทรวงแรงงานจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ โดยใช้วิธีจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสอดส่องบริษัทจัดหางานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตและเก็บค่าหัวคิวโดย ควรขยายการจัดปฐมนิเทศ โดยเครือข่ายนักวิชาการพร้อมเข้ามาช่วยเหลือทั้งในการจัดทำหลักสูตรและเป็นวิทยากรอบรม ทั้งนี้ ส่วนปัญหาแรงงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น แรงงานที่ไปอิสราเอลบางรายแอบขนยาเสพติด จะต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดี รวมทั้งเมื่อใช้ระบบแบบรัฐต่อรัฐ แรงงานไทยจะต้องผ่านด่านตรวจแรงงาน จึงสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ยังอยู่ประเทศไทย นอกจากนี้ จะต้องสร้างระบบคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้เข้มแข็งโดยทูตแรงงาน และสถานทูตต้องร่วมมือกัน รวมทั้งกระทรวงแรงงาน ควรทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวง สาธารณสุข เพื่อสามารถแก้ปัญหาแรงงานได้อย่าง ครอบคลุม
ด้าน น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า การหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศยังคงมี ล่าสุด ในจังหวัดอุดรธานี มีนายหน้าเถื่อนไปติดประกาศรับสมัครไปทำงานสร้างถนนในประเทศจีน หากใครต้องการเป็นหัวหน้างานต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาท และสามารถผ่อนจ่ายได้เดือนละ 1 - 3 พันบาท บางคนจ่ายไปแล้ว 1 แสนบาท แถมยังชักชวนเพื่อนๆ ด้วย โดยมีแรงงานตกเป็นเหยื่อทั้งหมด 22 คน ซึ่งมารู้ตัวกันว่าถูกหลอกเมื่อนายหน้าเถื่อนนัดเจอที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้วไม่มาตามนัด จึงไปร้องเรียนต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ขณะนี้ตำรวจกำลังติดตามหาตัวนายหน้าเถื่อนมาดำเนินคดี
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่