อาชีวะ จับมือ ก.การท่องเที่ยวฯ เพิ่มจำนวนมัคคุเทศก์รองรับการขาดแคลน จัดอบรม 3 หลังกสูตรร ระยะสั้นจัดอบรมภาษาคนเก่งด้านภาษา ส่วนระยะกลาง -ระยะยาว เล็งเปิดหลักสูตรสาขามัคคุเทศก์ ชี้จบได้ 3 ใบรับรองวิชาชีพรองรับ ทำงานได้ทั้งในประเทศและประเทศอาเซียน
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รักษาราชการแทนปลัด กก. ถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลในการผลิตและพัฒนามัคคุเทศก์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ ว่า ขณะนี้ มีอัตรานักท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จำนวนมัคคุเทศก์มีไม่เพียง อีกทั้งประเทศไทยไม่มีหลักสูตรผลิตมัคคุเทศก์โดยตรงไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษา แต่เวลานี้เราต้องการมัคคุเทศก์จำนวนมากทั้งที่รู้ภาษาเฉพาะและหลากหลายภาษา ดังนั้น แนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเข้ามาให้ความร่วมมือทั้ง 3 ระยะ โดยในระยะสั้นนั้น จะมีการจัดอบรมภาษา หรือ นำผู้ที่มีความรู้ เก่งด้านภาษา เช่น ภาษาจีน เกาหลี สเปน ญี่ปุ่น รัสเซีย เข้ามาอบรมเพิ่มเติมเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ ส่วนระยะกลางและระยะยาว จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนสาขามัคคุเทศก์ ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเรียนการสอน อาชีวศึกษาซึ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะ ทักษะต่างๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นในการปรับเพิ่มในส่วนของหลักสูตรไม่น่าจะมีปัญหา
“สำหรับอาชีวะนั้น นอกจากการดูแลเรื่องหลักสูตรแล้วยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูที่จะทำหน้าที่สอนหลักสูตรดังกล่าวด้วย โดยจะส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนหันมาเลือเรียนมัคคุเทศก์มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียน โดยในปีการศึกษา 2558 พบว่า มีนักศึกษาอาชีวะที่เรียนสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เกินเป้าถึง 134% ซึ่งในส่วนของ สอศ. มีวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการท่องเที่ยวโดยตรงมีอยู่ 40 แห่ง และที่เปิดสอนปริญญาตรีมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น” เลขาธิการ กอศ. กล่าวและว่า อนาคตนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรมัคคุเทศก์ จะได้รับการรับรอง 3 ใบ จากทั้งในส่วนสถาบันอาชีวศึกษา จากคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ด้วย และคณะกรรมการวิชาชีพแห่งชาติ (National Tourism Professional Board) ที่จะทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพการท่องเที่ยวอาเซียน 32 ตำแหน่ง (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals หรือ MRA:TP) ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศสมาชิก ดังนั้น เมื่อนักศึกษาจบออกมาสามารถทำงานเป็นมัคคุเทศก์ได้ทั้งในและกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่