ชู 5 วิทยาลัยสารพัดช่างนำร่อง จัดการเรียนสายอาชีพให้กลุ่มเด็กพิเศษ “สมาธิสั้น - แอลดี - ออทิสติก - เรียนรู้ช้า” เหตุมีหลักสูตรระยะสั้นหลากหลาย ยืดหยุ่นการเรียนการสอนและเทียบโอน ปวช. ได้ รองเลขาธิการ กอศ. เผยแนวโน้มเด็กกลุ่มพิเศษสูงถึง 12% ของประชากรเด็ก คาดเริ่มทดลองเรียน 20 เม.ย. นี้ พร้อมเก็บข้อมูลวิจัยด้วย ตั้งเป้าปีการศึกษา 59 จัดการศึกษาได้เป็นรูปธรรม
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาธิการ กอศ.) กล่าวระหว่างประชุมทิศทางจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้สายอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยมีผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ครู และผู้ปกครองกลุ่มเด็กพิเศษเข้าร่วม ว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กบกพร่องการเรียนรู้จากภาวะทางสมอง ประกอบด้วย สมาธิสั้น แอลดี เรียนช้า และออทิสติก มีจำนวนถึง 12 - 13% ของประชากรเด็กทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอัตราส่วนประชากรและการค้นพบเจอเด็กที่มีปัญหามากขึ้น ดังนั้น ระบบการจัดการศึกษาจึงต้องถูกออกแบบเพื่อรองรับกับคนทุกกลุ่ม โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การสอนให้มีอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วางแผนและออกแบบการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพเพื่อรองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ โดยนำร่องในวิทยาลัยสารพัดช่าง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ และวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่
“สาเหตุที่เริ่มต้นในวิทยาลัยสารพัดช่างและวิทยาลัยการอาชีพเนื่องจากมีความพร้อมและมีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน เพราะมีความเชี่ยวชาญในการสอนหลักสูตรระยะสั้น และสามารถเทียบโอนหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้ ดังนั้น สอศ. จึงได้จัดประชุมเชิญผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครองกลุ่มเด็กพิเศษ มาร่วมให้ข้อเสนอแนวทางจัดการสอนสำหรับเด็กพิเศษ โดยลงลึกถึงสาขาวิชาในการจัดการสอน การออกแบบหลักสูตร วิธีการสอน การวัดประเมินผล พร้อมกับการอบรมและพัฒนาครูให้มีความรู้และความเข้าใจ เพราะการจัดการสอนอาชีพจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียน และหากครูมีความเข้าใจก็สามารถคัดเลือกอาชีพหรือจัดอาชีพที่เหมาะสมกับเด็กได้ ขณะเดียวกัน จะจัดทำงานวิจัยมารองรับเพื่อทำให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย” นายวาณิชย์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มทดลองเรียนพร้อมกับเก็บข้อมูลการวิจัยในช่วงปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้ และตั้งเป้าว่าในปีการศึกษา 2559 จะเป็นการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่