xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากประชาชนถึงขบวนการจ้องทำลายหลักประกันสุขภาพ “หยุดละเมิดสิทธิประชาชนเสียที”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม
อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน

“ไม่รู้ไม่ชี้ไม่เป็นไร แต่รู้ไม่จริง รู้ไม่ครบ แล้วมาชี้ อันตราย”

หลังจากได้อ่านบทความที่เขียนโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา เรื่อง ตรรกะของ สปสช.ทำให้เกิดมะเร็งร้ายทำอันตรายแก่ระบบสาธารณสุขไทย

ดิฉัน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง (เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งตามคำของ พญ.เชิดชู ที่ระบุว่า เป็นพลเมืองไทย ไม่ใช่เป็นแค่ประชาชน) และในฐานะอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ดแห่งนี้ จะขอตอบบางข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประชาชนพลเมือง ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ดังนี้

1. เริ่มตั้งแต่ ที่บอกว่าเมื่อ หน่วยงานที่ “รับผลงานจาก สปสช.” จะร้องขอให้ช่วยเหลือแก้ไขให้เหมาะสม สปสช. ก็ไม่ทำ ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงเมื่อครั้งมีข้อเสนอจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เสนอให้มีการปรับแก้ไขแนวทางการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ดิฉันได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ต้องบอกว่า การที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนพลเมืองนั้น ไม่ใช่ว่าคิดอยากจะแก้โดยใครก็ทำได้ง่ายๆ ซึ่งเข้าใจว่า นพ.ณรงค์ คงเคยชินกับการสั่งการได้ทุกอย่างในฐานะปลัด สธ. แต่ไม่สามารถเอามาใช้ได้กับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอร์ดแห่งนี้มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน การที่อยู่ๆ จะมาเสนอแก้ แล้วบอกว่าจะทำให้ดีขึ้น โดยพูดลอยๆ ไม่มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่มีใครเชื่อ ด้วยเหตุนี้ กลไกบอร์ดจึงออกแบบให้ต้องมีคณะอนุกรรมการเพื่อคอยกลั่นกรองและนำเสนอทางเลือกให้บอร์ดพิจารณา

คณะอนุกรรมการก็มีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน ซึ่งก็เป็นตามหลักการประชาธิปไตยทุกอย่าง ทุกคนก็มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่า สป.สธ. จะเสียงดังกว่าเพื่อนได้ในฐานะคนดูแล รพ. รัฐรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ก็ในเมื่อเงินนี้ รัฐจัดให้เพื่อให้รักษาพยาบาลประชาชน แถมที่ผ่านมาก็ให้ไม่พอ ดังนั้นจึงต้องออกแบบเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ

เรารู้ดีว่า รพ. ได้เงินไม่พอ แต่ไม่ใช่เอะอะก็มาโทษแต่เรื่องการจัดสรรเงิน คุณก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย ไม่ใช่จับแพะชนแกะมั่วไปหมดแบบนี้

เมื่อบอร์ดมีมติให้ลองคำนวณตามข้อเสนอที่ นพ.ณรงค์ เสนอมา ผลก็ออกมาว่า แทนที่เงินจะไหลเข้า สธ. กลับรั่วไหลออกไปนอกระบบมากไปอีก แล้วแบบนี้จะให้บอร์ดเปลี่ยนไปใช้แนวทางแบบที่ นพ.ณรงค์เสนอมาได้อย่างไร ในเมื่อเห็นชัดๆ ว่าทำให้มีปัญหา
ส่วนที่ว่าทำไมต้องยึดตามประกาศ ก็เพราะเป็นเงินหลวง จะทำอะไรต้องมีประกาศระเบียบกำกับ การที่เป็นหน่วยงานรัฐแล้วใช้เงินภาษีประชาชนมั่วๆ พญ.เชิดชู คิดว่าถูกต้องหรือไม่ ในฐานะประชาชนพลเมืองคุณยอมที่จะให้หน่วยงานรัฐแก้ไขระเบียบตามใจชอบเพื่อใช้เงินตามใจฉันได้เช่นนั้นหรือ

2. การที่ หมอเชิดชู ระบุว่า การที่ สปสช.ได้รางวัลกองทุนดีเด่น เป็นการอวยกันเอง ตรงนี้ดิฉันก็แปลกใจอย่างมากว่า ถ้าเป็นรางวัลที่อวยกันเอง หน่วยงานอื่นที่ได้รางวัลกองทุนดีเด่นไปด้วย เช่น กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนประกันการวินาศภัย กองทุนประกันสังคม และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ก็คงไม่ดีตามทัศนะของ หมอเชิดชู และมิหน้ำซ้ำ ดิฉันเห็นว่า ในกรณีนี้ หมอเชิดชู ไม่ควรไปพาดพิงสร้างความเสียหายให้หน่วยงานอื่น ในเรื่องที่รู้ไม่จริง แบบนี้ก็เหมือนกล่าวหาว่า เกณฑ์การให้รางวัลของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไม่มีมาตรฐาน แถมยังบอกว่า ถึงขึ้น กระทรวงการคลังต้องเอาปี๊บคลุมหัวที่ให้รางวัล สปสช. ผู้อ่านที่มีวิจารณญานก็ลองตรองดูว่า เหมาะสมหรือไม่

ส่วนข้อ 3 และ ข้อ 4 นั้น เป็นการบริหารจัดการของ สปสช. ซึ่ง สปสช. จะต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องหมอเชิดชูระบุว่า สปสช.เอาเงินไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ และกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ รพ.ขาดทุนหนักขึ้นนั้น ในฐานะที่เคยเป็นบอร์ด รับทราบสถานการณ์ดังกล่าวมาบ้าง ต้องบอกว่าเป็นการกล่าวหาที่เกินจริง เงินที่เอาไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการนั้น คิดเป็นเพียง 0.42% เท่านั้น

และถ้าหากจะบอกว่า จะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ไม่ใช่ประเด็น แต่ทำไมเอาไปให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ รพ. ก็ไม่รู้ว่า หมอเชิดชูได้ตรวจดูข้อมูลที่มีการชี้แจงไปบ้างหรือไม่ว่า หน่วยงานที่รับไป ก็คือ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละ ถามว่า เขารับเงินกันไปทำไม ที่แรก ดิฉันก็งงว่าทำไม แต่พอได้เห็นโครงการที่ขอกันเข้ามาก็เข้าใจ เช่น กรมควบคุมโรคขอเงินมาเพื่อใช้ในการอบรมบุคลากรที่ต้องให้บริการฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ ซึ่งก็งงเหมือนกันว่า เป็นคนที่เรียนมาด้านนี้โดยตรงแล้วทำไมถึงฉีดวัคซีนไม่เป็น จนมาเข้าใจว่า การฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ในกลุ่มผู้ใหญ่นั้น มันมีความเสี่ยงบางอย่าง แล้วนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐฉีดวัคซีนฟรีให้ประชาชนกลุ่มผู้ใหญ่เพื่อป้องกันโรค ดังนั้น มันจึงต้องอบรมบุคลากรสาธารณสุขในเรื่องนี้ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยง

หรือโครงการส่งเสริมการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับอำเภอ โครงการ ติดตามกำกับ และประเมินผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกระทรวงสาธารณสุข ก็ล้วนเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ สธ. ทั้งสิ้น

คือเรื่องแบบนี้จะเห็นว่ามันเป็นโครงการที่เอาไปใช้กับบุคลากรของพวกท่าน ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ การฝึกอบรมเพื่อมาให้บริการประชาชนอย่างมีคุณภาพนั่นแหละ ไม่ได้เอาไปใช้อะไร แต่กลุ่มหมอเชิดชูเอาไปจับแพะชนแกะ มโนกันไปใหญ่โต จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นใครมีวิจารณญานก็รับสารและตรวจสอบกันก่อนที่ว่าตัดสินใจหลงเชื่ออะไร ทุกวันนี้ข้อมูลก็ค้นหากันได้ง่าย

แล้วตอนนี้ เท่าที่รู้ ป.ป.ท.ก็กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ ตามที่มีการร้องเรียน ก็รอดูผลการตรวจสอบแล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ควรกล่าวหากันลอยๆ แบบนี้ไปเรื่อยเปื่อย

ส่วนข้อนี้ ต้องขอชี้แจงหน่อย ถึงในข้อเขียนหมอเชิดชูจะไม่มี แต่ก่อนหน้านี้ ก็มีการกล่าวหามาตลอดว่า ทำไมภาคประชาชนต้องออกมาปกป้อง สปสช.อยู่เรื่อยๆ อันนี้ก็เข้าใจกันผิดอีก เราไม่ได้ปกป้อง สปสช. แต่ประชาชนพลเมืองปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นของประชาชนทุกคน ที่สำคัญ สปสช. นี่ ตัวองค์กรถูกออกแบบมาให้เป็นลูกจ้างประชาชน ไม่เหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกแบบมาให้เป็นเจ้านายประชาชน ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเสนออะไรไม่ได้เลย นั่งรอจากพวกท่านๆ อย่างเดียวว่าจะกรุณาประทานอะไรมาให้ ได้คนที่เข้าใจก็ดีไป แต่ถ้าได้คนที่ไม่เข้าใจก็มาเป็นเจ้านายประชาชนอีก ทั้งที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

แต่ของ สปสช. นี่ ตอนออกแบบมันถูกออกแบบมาแต่แรกแล้วว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ที่หมอเชิดชูเข้าใจผิดว่าเป็นของทักษิณ นั่นก็ไม่ใช่นะ ไปศึกษาประวัติศาสตร์หน่อยจะรู้ว่ามันมาจากข้อเสนอประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ แต่รัฐบาลทักษิณมองเห็นประโยชน์ มันเลยเกิดในรัฐบาลชุดนี้

สปสช. นี่ก็เหมือนกัน ภาคประชาชนก็ต่อว่าไปหลายครั้งทั้งในบอร์ด ทั้งแบบเจอต่อหน้า ประชาชนก็รู้สึกว่า สปสช. เอาใจหน่วยบริการมากไปนะ เกรงใจมาก ไม่กล้าทำอะไร เรื่องยาบางตัวกว่าจะกดดันให้ซื้อยารวมได้ ก็ต้องออกแรงกันมาก เพราะเราอยากให้ได้ยาราคาถูก แต่ สปสช. ก็กลัวจะมีปัญหากับ รพ. แต่มุมภาคประชาชนมันไม่ใช่ มีช่องทางประหยัดเงินได้ มันก็ต้องทำ หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นให้กับประชาชน กว่าจะเพิ่มได้ก็ต้องออกแรงเยอะ ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น แต่พวกหมอก็ยังมาหาว่าเป็นสิทธิประโยชน์ไม่มีขอบเขต ใช้จนเคยตัว ทีแบบนี้ไม่คิดกับสวัสดิการข้าราชการบ้างที่เบิกได้ทุกอย่าง แต่สิทธิ 30 บาทนี่จำกัดการเบิกยานอกบัญชีหลายตัวนะ จะเห็นในข่าวเสมอๆ ที่มีสิทธิประโยชน์โรคบางอย่างหรือยาบางตัวที่ไม่ครอบคลุม แต่ข้าราชการครอบคลุมหมด แล้วพวกคุณก็ยังจะมาว่าประชาชนว่าใช้ฟุ่มเฟือยอีก

หรือเรื่อง สตง. ตรวจเจอการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นี่ก็เหมือนกัน คน สธ. ไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนที่ใช้ผิดคือ สสจ. แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดแบบทุจริต เค้าก็เอาไปใช้เพื่อส่งเสริมให้ รพ.ได้บริการที่มีคุณภาพให้ประชาชนนี่แหละ แต่มันผิดระเบียบตามที่ สตง. ตรวจ พอข่าวออกมา คนที่รู้น้อยก็เอาไปโพนทะนา ว่าทุจริต เราก็บอกว่า สปสช. ต้องชี้แจง คุณเป็นลูกจ้างประชาชนนะ ก็บอกไปสิ สปสช. ก็ไม่ทำ ก็กลัวว่า รพ. จะเคือง จะไม่พอใจ ก็รับไป พอสุดท้ายก็เกิดเป็นภาพลักษณ์เสียหายแบบนี้

แต่หน่วยงานรัฐแบบนี้แหละที่ประชาชนต้องการ บอกได้ สั่งได้ เข้ามาร่วมจัดการแก้ไขได้ เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นลูกจ้างของประชาชน พอ สปสช. เป็นแบบนี้ก็ธรรมดาที่จะไม่ถูกใจหมอเชิดชู เพราะสั่งไม่ได้ จะแก้อะไรแต่ละทีต้องผ่านด่านประชาชนเยอะ

ส่วนข้อ 5 เรื่อง 30 บาท ที่มักถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยมนั้น อ่านจากข้อเขียนของ หมอเชิดชูแล้ว ต้องบอกว่า มีทัศนคติที่คับแคบ และดูหมิ่นประชาชนพลเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่บอกว่า ประชาชนทั้งยากจนและอยากจนนึกถึงทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น คือ ไม่เข้าใจว่าแค่การเชื่อมโยงว่าประชาชนนึกถึงทักษิณ ก็เป็นประชานิยมแล้วงั้นหรือ ดูเหมือน หมอเชิดชู จะไม่เข้าใจคำว่านโยบายประชานิยม ถ้าการที่ประชาชนจะมีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้ แล้วนั่นคือประชานิยม ถ้าเช่นนั้น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ก็คงเป็นประชานิยมในรูปแบบหนึ่งตามทัศนะของ พญ.เชิดชู อย่างนั้นหรือ

ดูเหมือนว่า การที่จะบอกว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิสุขภาพอย่างถ้วนหน้าที่ให้แก่พลเมืองไทย โดยไม่เลือกว่ายากดีมีจน จะทำให้ หมอเชิดชู รู้สึกไม่สบายใจ และพยายามผลักให้ 30 บาทกลายเป็นระบบของคนยากจนอยู่ตลอดเวลา ถ้าคนที่ไม่จนไปใช้บริการ หมอเชิดชูก็บอกว่าเขาเป็นพวกอยากจน ทีข้าราชการไปใช้บริการ ไม่เห็นบอกว่า ข้าราชการอยากจนบ้าง ส่วนข้ออ้างที่ว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อย ทำงานเสียสละ ปัจจุบันนี้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว เงินเดือนข้าราชการเพิ่มตลอดเวลาและรัฐบาลพยายามทำให้เท่าเอกชน เพื่อชักจูงคนเก่งมาทำงานให้ระบบราชการ ดังนั้น เลิกใช้ข้ออ้างแบบนี้เสียที

ลำพังแค่จะทำให้ประชาชนพลเมืองที่เสียภาษีให้รัฐมีสิทธิสุขภาพ ก็ถูกขัดขวาง ไม่พอใจ ป้ายสี ให้ร้ายประชาชนอยู่ตลอดเวลา อย่าลืมสิว่าทุกคนจ่ายภาษีเหมือนกันหมด หมอเชิดชูอย่าเข้าใจผิดว่ามีเฉพาะข้าราชการและคนทำงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เท่านั้นที่จ่ายภาษี คงลืมกันไปแล้วว่า มันมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ว่าเป็นใครก็ต้องจ่ายตลอดเวลา ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่อ้างกันหนักหนาว่า มีรายได้ถึงเกณฑ์จ่ายภาษีแล้วคิดว่าจะเป็นเจ้าของประเทศไปได้นั้น แท้จริงยังมีสัดส่วนต่ำกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ข้อมูลพวกนี้หาได้ทั่วไป ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเก็บจากคนยากดีมีจนทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน แถมถ้าคิดเรื่องสัดส่วนรายได้ คนจนถูกขูดรีดภาษีส่วนนี้อย่างไม่เป็นธรรมด้วยซ้ำ

ดังนั้น การที่ให้ประชาชนพลเมืองทุกคนมีสิทธิสุขภาพ แบบที่ข้าราชการและครอบครัวมี ก็เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดให้สำหรับประชาชนทุกคน เพราะรัฐมีไว้ดูแลประชาชน งบประมาณของรัฐมีไว้เพื่อดูแลประชาชน แต่ดูเหมือนว่า การที่เอางบประมาณของรัฐไปใช้ดูแลประชาชนในรูปแบบสิทธิสุขภาพนี้ จะไปสร้างความไม่พอใจให้หมอเชิดชู จนต้องออกมาป้ายสี โจมตี ผลักสิ่งที่เป็นสิทธิของประชาชน ให้กลายเป็นประชานิยมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เข้าใจว่า หมอเชิดชูต้องการอะไร ต้องการยกเลิกสิทธิด้านนี้ของประชาชนไปแบบนั้นหรือ ?

ส่วนเรื่องจ่ายเงินให้ รพ. ครบไม่ครบ นี่ก็เหมือนกัน คือ สปสช. จ่ายเงินให้ รพ.ตามอัตราที่กำหนดในประกาศผ่านบอร์ดทุกปี ไม่ได้จ่ายให้ตามที่ รพ.เรียกเก็บ ซึ่งเป็นผลมาจากงบรายหัวที่ได้จากรัฐบาลที่มีการคำนวณเท่านี้ เราเข้าใจดีว่ามีบาง รพ.ที่มีปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องจริง แต่ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุก รพ. และก็รู้ดีว่า หาก รพ.มีปัญหาสภาพคล่อง (คำที่ถูกต้อง ต้องใช้คำว่า รพ.ขาดสภาพคล่องนะ ไม่ใช่ รพ.ขาดทุน เพราะเป็น รพ.รัฐ ไม่มีกำไร ขาดทุน) จะส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลที่ให้ประชาชน ซึ่งในบอร์ดก็มีการพูดคุยและหาทางแก้ไขในระดับเขต ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาไปได้

ถ้าจ่ายตามที่เรียกเก็บเหมือนที่จ่ายให้สวัสดิการข้าราชการ ก็เห็นแล้วว่างบประมาณพุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา และเป็นงบที่รั่วไหลด้วย เพราะไม่มีการกำกับควบคุม อยากเบิก อยากจ่าย อยากรักษาอะไรได้หมด

แต่นี่แค่ประชาชนพลเมืองที่ไม่ใช่ข้าราชการใช้งบที่น้อยกว่าข้าราชการ 4 เท่า หมอเชิดชูยังบอกว่าเป็นภาระประเทศ อย่างนี้งบรักษาข้าราชการไม่เป็นภาระประเทศมากกว่าหรือ แถมใช้จ่ายแบบไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์อะไรมารองรับด้วย พอใครไปแตะก็บอกว่าละเมิดสิทธิข้าราชการ ถ้าใช้ตรรกะแบบนี้ ก็แสดงว่า ทุกครั้งที่หมอเชิดชูมาโวยวายเรื่องงบรักษาของประชาชนพลเมือง ก็เท่ากับว่า หมอเชิดชูมาละเมิดสิทธิประชาชนพลเมือง ไปด้วยแบบนั้นหรือ ? หรือเห็นดีเห็นงามกับวิธีนี้ เพราะหมอเชิดชูก็ได้ประโยชน์จากสิทธิข้าราชการ จึงไม่กล้าแตะต้อง เพราะตัวเองจะเสียประโยชน์

สำหรับคนที่โวยวายเรื่องงบบัตรทอง หาว่าเป็นภาระประเทศ ทำ รพ. เดือดร้อน ในด้านกลับกัน คุณไม่ทราบเลยหรือว่า งบประมาณตรงนี้เป็นงบค่ารักษาพยาบาลของประชาชน และนอกเหนือจากงบรักษา ก็ยังมีงบพัฒนา รพ. ด้านอื่น ที่ สป.สธ. ต้นสังกัด รพ. รัฐ ก็ของบประมาณจากรัฐมาดำเนินการทุกปี ไม่เห็น หมอเชิดชูไปจับจ้องงบตรงนี้ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง แต่มาเดือดร้อนเรื่องประชาชนได้รับการรักษาพยาบาล พูดย้ำๆ ซ้ำๆ เหมือนประชาชนเป็นขอทาน อยากได้ของฟรี ถ้าคิดตรรกะแบบนี้ ข้าราชการก็คงจะชอบของฟรีเหมือนกัน เพราะได้รักษาฟรีมาตลอดเวลา

ทั้งหมดนี่ เป็นสิ่งที่ดิฉันในฐานะประชาชนอยากชี้แจงหมอเชิดชู ส่วนข้ออื่นๆ ก็ให้เป็นหน้าที่ สปสช. ชี้แจง แต่ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่อยากจะบอกหมอเชิดชู คือ ลองคิดในมุมกลับกันบ้าง หมอเชิดชูลองคิดในฐานะที่ตัวเองเป็นประชาชนพลเมืองคนธรรมดา ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่หมอ ดูบ้าง แล้วมานั่งพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่มีอคติ จะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น แล้วขอให้เลิกการจับแพะมาชนแกะ และสุดท้าย หยุดพฤติกรรมทำลายสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนเสียที แล้วมาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพด้วยกันด้วยท่าทีเป็นมิตรต่อกัน ไม่ใช่มองเห็นประชาชนเป็นศัตรู ด้วยการป้ายสีว่าเป็นพวกอยากจน ชอบของฟรี อยู่ตลอดเวลาแบบนี้

เอาเวลาที่ยังเหลืออยู่ ไปทำเรื่องดีๆ ให้กับประชาชนบ้าง ไปช่วยกันรณรงค์เรื่องบุหรี่ สุรา ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเหลือใจ แทนที่จะใช้ตรรกะผิดๆ ปิดประตูทำความเข้าใจ และไม่สนใจความทุกข์ยากจากความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน

บาปกรรมมีจริงนะคะ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น