xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ปัดต้นเหตุย้าย “หมอณรงค์” ทำงานร่วม สธ.ราบรื่น หลังไร้เงาปลัด หนุนเขตสุขภาพสุดมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. ปัดเบื้องหลังปมย้ายปลัด สธ. ชี้ขัดแย้งจัดสรรงบบัตรทองจบตั้งแต่ ก.พ. เลขาธิการ สปสช. ยันไม่มีปัญหา “หมอณรงค์” แต่ระบุกรอบความคิดไม่ตรงกัน ย้ำบริหารงบบัตรทองต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เผยเดินหน้างานร่วม สธ. ฉลุย หลังไร้เงาปลัด ตั้งคณะทำงานร่วม พร้อมหนุนงานเขตสุขภาพ และ Service Plan แจงองค์กรโปร่งใส เตรียมปรับยุทธศาสตร์ 5 ปี

วันนี้ (19 มี.ค.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าว “ข้อเท็จจริงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ว่า สปสช. ไม่เคยถูกตั้งข้อสงสัยในลักษณะทุจริต และไม่เคยถูกสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีเพียงแต่ตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้งบประมาณแล้วชี้แจงเท่านั้น ที่ผ่านมา ก็มีการตรวจสอบทุกปีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ ยังเคยถูกตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ (คตร.) ซึ่งได้มีการชี้แจงแล้ว ทั้งหมดไม่พบการทุจริต จึงยืนยันว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช. ใน 5 ประเด็นนั้นเป็นเรื่องที่ สปสช.เคยชี้แจงไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้ส่งหนังสือชี้แจงพร้อมเอกสารหลักฐานไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา

นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นที่ ป.ป.ท. ตรวจสอบนั้น คือ 1. บอร์ดมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น การเลือกกรรมการบอร์ดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในระบบหลักประกันฯเข้ามาเป็นกรรมการ 2. การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่เอื้อประโยชน์เอกชน ก็ยืนยันว่า สปสช. ซื้อจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพียงแห่งเดียว 3. การนำเงินไปให้รพ.เอกชนในการบริการโรคเฉพาะ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย สปสช. ยืนยันว่า ระบบเรามี รพ.เอกชน ด้วย แต่ต้องขึ้นทะเบียนหน่วยบริการก่อนและมีการตรวจสอบคุณภาพ รพ.เอกชน ที่จะเข้ามา

4. การตกแต่งบัญชีโดยการโอนเงินล่วงหน้าและเรียกเงินกลับเพื่อการประเมินโบนัส เป็นการโอนเงินล่วงหน้าเพื่อช่วยเหลือมิให้ รพ. มีปัญหาสภาพคล่องตอนต้นปีงบประมาณ และจะมีการหักลบตามผลงานที่ทำได้ตอนปลายปี ซึ่งเป็นระบบปกติ ไม่ใช่การตกแต่งบัญชีเพื่อรับโบนัสแน่นอน เพราะต่อให้ผลประเมินด้านบัญชีการเงินเป็นศูนย์ ผลประเมินโดยรวมก็ไม่แตกต่าง และ 5. การปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการหรือเลขาธิการ สปสช. ไม่เป็นไปตามมติ ครม. ยืนยันว่า บอร์ด สปสช. ไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนเบี้ยประชุมก็เป็นไปตามระเบียบ ส่วนการจ้างเลขาธิการ จะใช้อัตราเงินเดือนตามระดับองค์กรที่ กพร. กำหนด ซึ่ง สปสช. อยู่ในระดับ 3 อัตราเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งการเพิ่มเงินเดือนก็เป็นไปตามผลการประเมินของบอร์ด

“ประเด็นเงินค้างท่อที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนนั้น สปสช.ส่งเงินให้หน่วยบริการโดยตรง ซึ่งตามข้อกำหนดแล้วเงินจะต้องเหลือไม่เกิน 4% ของงบที่ได้รับมา ซึ่งจะต้องเหลือไว้เพื่อเบิกจ่ายให้แก่หน่วยบริการที่ยังเบิกจ่ายไม่ครบ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับประเด็นการย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการโยงว่า สปสช. อยู่เบื้องหลัง จากความคิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวนั้นไม่จริง เพราะมติบอร์ด สปสช. เรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ได้ข้อยุติเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับปลัด สธ. เพียงแต่กรอบความคิดไม่เหมือนกัน เพราะการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันฯ ค่อนข้างมีความซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจในระยะเวลาสั้นๆ อย่างตนก็ต้องขลุกอยู่กับงานนี้มาเป็น 10 ปี จึงจะเข้าใจ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กรณีความเห็นต่างระหว่าง สธ. และ สปสช. นั้น โดยเฉพาะเรื่องเขตสุขภาพและการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Paln) 10 สาขานั้น สปสช. ไม่เคยค้าน แต่สนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าวก็มีต้นแบบมาจากโมเดลนครชัยบุรินทร์ ที่ทำงานร่วมกันกับ สปสช. เขต จนได้นวัตกรรมเรื่อง Service Plan ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น การใช้จ่ายรัดกุมและประหยัดมากขึ้น สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช. นั้น เบื้องต้นมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยเลขาธิการ รองเลขาธิการ รักษาการปลัด สธ. และรองปลัด สธ. ในการทำงานร่วมกัน ทั้งการจัดทำงบประมาณขาขึ้นปี 2559 เพื่อแก้ปัญหา รพ. เงินไม่พอ โดยเฉพาะงบลงทุนที่หยุดชะงัก และการแช่แข็งงบประมาณ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. และรักษาการปลัด สธ. กับ นพ.วินัย ก็ได้ไปหารือเรื่องนี้กับสำนักงบประมาณ นอกจากนี้ ยังร่วมกันในการพัฒนาทีมหมอครอบครัวด้วย

ส่วนในอนาคตจะปรับจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ หลังจากเดินหน้างานมากว่า 13 ปี ซึ่งสถานการณ์ย่อมแตกต่างจากปี 2545 ก็จะมีการวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพ ระบบสาธารณสุข และปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อมาพิจารณากำหนดเป้าหมายเพื่อปรับยุทธศาสตร์ในระยะ 5 ปี โดยจะทำในช่วง 2 - 3 เดือนนี้” นพ.ประทีป กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายกฯ สั่งตั้งคณะกรรมการตรอวจสอบ สปสช. นพ.วินัย กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือ แต่ก็พร้อมให้ตรวจสอบ
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น