xs
xsm
sm
md
lg

วอน “บิ๊กตู่” รัฐประหาร สธ. “อัมมาร” ชี้ 30 บาทล้มเหลว ทำคนแห่ไป รพ.เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปรียนันท์” วอน “บิ๊กตู่” รัฐประหาร สธ. ล้างบางหน่วยงานที่ทำให้เกิดปัญหา ตั้งคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแก้ปัญหาค่ายา - ค่ารักษาแพง ด้าน “อัมมาร” ชี้ระบบ 30 บาทล้มเหลว ทำคนชั้นกลางแห่ไป รพ.เอกชน ชี้ต้องดึงกลับเข้าระบบ ประสาน รพ.เอกชน รับสิทธิบัตรทองเพิ่ม หนุนผู้ป่วยเลิกเกรงใจหมอ ขอใบสั่งยาไปซื้อเองแก้ปัญหาค่ายาเอกชนแพง ด้าน กพย. ย้ำดัน กม. ยาใหม่ กำหนด บ.ยา เปิดเผยโครงสร้างราคา ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

วันนี้ (27 พ.ค.) ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและการพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวในเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทำไมต้องควบคุมราคายา” ว่า ยาเป็นสินค้าคุณธรรม จะตั้งราคาขายตามใจไม่ได้ ทั่วโลกมีการควบคุมหลายรูปแบบ ในส่วนของประเทศไทยมีกระทรวงพาณิชย์ดูแล ซึ่งมีเพียงการให้เปิดเผยราคาเท่านั้น แต่ไม่มีระบบติดตาม กำกับ และบทลงโทษ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมราคายาที่ตั้งขึ้นมา แต่สุดท้ายก็หายเงียบไป จึงอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ถ้ากระทรวงพาณิชย์ทำไม่ได้ก็มอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแลแทน 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาราคายาแพงอย่างยั่งยืน คือ การผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยให้บริษัทยาต้องเปิดเผยโครงสร้างราคายาและแสดงสถานะสิทธิบัตรให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาในไทย ซึ่งใน ร่าง พ.ร.บ.ยาที่ สธ. เสนอ ครม. มีข้อกำหนดเรื่องนี้ แต่กลับถูกตีกลับ และยังไม่มีความคืบหน้า ก็หวังว่า สธ. จะไม่กลับคำ โดยล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ท่านก็ตอบรับเพียงสั้นๆ ว่ามอบ สธ. และกระทรวงพาณิชย์ดูแล

ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการที่คณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลแพง โดยจะตั้งทีมเจรจากับ รพ.เอกชน โดยเสนอ 2 ข้อเสนอ คือ ให้แพทย์ออกใบสั่งยาให้ประชาชนไปซื้อที่ร้านขายยา และต้องเปิดเผยต้นทุนค่ายาที่แท้จริง หากจะบวกกำไรในค่ายาว่ามีอะไรบ้างนั้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำมาตั้งนานแล้ว แต่สิ่งสำคัญถ้าทราบโครงสร้างราคายาก็จะทราบได้ว่าราคาที่ตั้งจากโรงงานนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ และการบวกกำไรสมเหตุสมผลหรือไม่

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่คนหันไปใช้บริการ รพ.เอกชน เยอะ เป็นเพราะความล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ดังนั้น ต้องดึงคนชั้นกลางกลับเข้ามาสู่ระบบให้ได้ แต่อาจจะเกิดปัญหาคนไข้ล้น ดังนั้น รพ. รัฐ จะต้องพัฒนาระบบให้ดีขึ้นด้วย ขณะที่ สปสช. อย่าไปติดกับ สธ. มากนัก เพราะใน กทม. ไม่ค่อยมี รพ. สังกัด สธ. มองว่าควรประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ระดับกลางหรือระดับทั่วไป ในการรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมากขึ้น ส่วนเรื่องราคายานั้นมองว่าต้องควบคุม เพราะไม่ใช่สินค้าทั่วไปอย่างเทคโนโลยีที่ไม่ต้องมีการควบคุม นั่นเป็นเพราะผู้ป่วยไม่มีอำนาจในการต่อรองกับแพทย์ เนื่องจากอาจไม่มีความรู้ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนระบบใหม่ในการรับยา โดยคนไข้ต้องขอรายชื่อยาจากแพทย์ เพื่อนำออกไปซื้อเองจากร้านขายยาภายนอก ซึ่งตรงนี้มองว่าสามารถทำได้ เพราะคิดว่าน่าจะมีประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อยู่ ที่สำคัญคือประชาชนต้องกล้าขอ ไม่ต้องเกรงใจแพทย์ เพราะค่ายาตรงนี้ไม่ใช่รายได้แพทย์ แต่เป็นรายได้ของโรงพยาบาล

ดร.อัมมาร กล่าวว่า ส่วนมาตรการให้หน่วยงานตามสิทธิรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลัง รพ.เอกชน รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจนพ้นวิกฤต 2 ชั่วโมงไปแล้ว แต่ส่งต่อไปยัง รพ. ตามสิทธิได้นั้น มองว่าสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีกองทุนรองรับในการจ่าย  แต่สิทธิบัตรทองน่าจะมีปัญหา เพราะทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ซึ่ง สปสช. ต้องจัดหา รพ. รับส่งต่อให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ที่ส่วนใหญ่มักมีปัญหา ไม่เหมือนต่างจังหวัด  ส่วนกรณีที่ สพฉ. ของบพันล้านบาทนั้น เข้าใจว่าขอมาเพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียน แต่ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้หรือไม่  

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาระหว่างแพทย์กับคนไข้มักพบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นประธาน เป็นกรรมการในการพิจารณาข้อขัดแย้ง ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ตนอยากจะเสนอนายกฯใช้โมเดลเดียวกับการเข้ามาบริหารประเทศ คือกันทุกคน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาออกไปทั้งหมด แล้วเอาคนนอกที่เป็นคนกลางเข้ามาทำงานแก้ปัญหาเหล่านี้ และยังเห็นว่าควรใช้มาตรา 44 ในการปลดบอร์ดแพทยสภาชุดปัจจุบันที่มีส่วนได้ส่วนเสียใน รพ.เอกชน และส่วนตัวไม่เชื่อคณะกรรมการชุดที่ สธ. ตั้งขึ้นมาแต่อย่างใด

นางสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การปล่อยให้ระบบ รพ.เอกชน เติบโตโดยไม่มีการควบคุม ทั้งที่ประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพฯอยู่ โดยเฉพาะการเอาเข้าตลาดหุ้น เพราะมีการปั่นหุ้นทำให้ราคาแพง ดังนั้น ต้องไม่ปล่อยให้มีการเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม ที่สำคัญ ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ส่วนตนจะพยายามคงมาตรา 294 (4) ในหมวดสุขภาพเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้หลังจากที่ผ่านมามีความพยายามในการขอให้เอาออกตลอด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น