นักวิชาการด้านยาห่วง ตั้งคณะทำงานหาราคากลางยาไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ย้ำรายชื่อคนร่วมทำงานต้องไม่เกี่ยวพันภาคเอกชน ชี้คุมราคายาควรทำมานาน จับตารูปแบบการแก้ปัญหา ด้านภาคประชาชนเตรียมออกแถลงการณ์แสดงความเห็นแก้ปัญหาเพิ่มเติม ระบุ 4 มาตรการแก้ รพ.เอกชน เก็บเงินเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงมติการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กระทรวงพาณิชย์ กรณีในการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพง โดยให้ รพ.เอกชน แจ้งอัตราค่ารักษาผ่านเว็บไซต์ ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาราคายากลาง เพื่อออกประกาศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ว่า เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตั้งแต่ต้น เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการฯ ระบุชัดว่า ยาคือสินค้าต้องควบคุม เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อมีการหารือว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาจริงก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องมาดูว่าจะสามารถเดินหน้าได้มากน้อยแค่ไหน และคงต้องมาดูว่าการดำเนินการจะออกมาในรูปแบบใด เพราะหากระบุแค่ให้ รพ.เอกชน แจ้งอัตราค่ารักษา ก็จะเกิดช่องโหว่คือ จะทราบได้อย่างไรว่า รพ.เอกชน มีการแจ้งค่ายาตามความเป็นจริง เพราะต้องพิจารณาต้นทุนด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องไปพิจารณาถึงบริษัทยาที่ขายยาอีกว่า แจ้งจำหน่ายยาในราคานี้ มีการคิดต้นทุนและบวกกำไรมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกถึงโครงสร้างราคายาที่แท้จริง ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย เพราะยาเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าคุณธรรม
ภญ.นิยดา กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะทำงานพิจารณาราคายากลาง ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้ สุดท้ายก็ยกเลิกไป ไม่แน่ใจว่าคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นมาใหม่จะทำงานได้ตลอดหรือไม่ หากทำงานได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่อยากฝากคือ รายชื่อคนที่อยู่ในคณะทำงานขอให้พิจารณาเลือกอย่างถี่ถ้วน ไม่ควรให้มีบุคคลที่เกี่ยวพันกับภาคเอกชน เพราะจะมีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ รมว.สาธารณสุข จะเชิญภาคเอกชนมาหารือในสัปดาห์หน้า เสนอว่าควรเชิญภาคประชาชนและผู้ที่ทำงานด้านนี้ด้วย หรือเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้วยจะดีที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้านจริงๆ
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน แพงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งมาตรการทั้ง 3 ระยะนั้น ขณะนี้คงต้องขอหารือกันภายในภาคประชาชนก่อนว่าจะมีการเสนอเพิ่มเติมในส่วนใดหรือไม่ เพราะขณะนี้เรื่องค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพง ไม่ใช่แค่เรื่องที่เครือข่ายฯ เสนอเพียงฝ่ายเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องของภาคประชาชนจำนวนมาก ซึ่งภายใน 1 - 2 วันนี้ คาดว่าภาคประชาชนจะออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้อยุ่ระหว่างการหารือและร่างแถลงการณ์อยู่
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ส่วนที่ทางเครือข่ายฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี ที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วย สธ. จะมาเป็นประธานในการหารือราคากลางที่เหมาะสมที่ รพ.เอกชนยอมรับได้ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เรื่องนี้ เครือข่ายฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติม 4 เรื่อง คือ 1. หากผู้ป่วยเข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินจริง ภายใน 72 ชั่วโมง ห้าม รพ.เอกชน ให้คนไข้ หรือญาติ เซ็นรับค่ารักษาพยาบาล 2.เมื่อพ้น 72 ชั่วโมง ในช่วงภาวะวิกฤตแล้วให้ส่งคนไข้ไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิของคนไข้ และขอให้รีบจัดหาเตียงไอ.ซี.ยู.ให้เพียงพอ 3. หากพ้น 72 ชั่วโมงแล้วยังหาเตียงไม่ได้ ให้หน่วยงานตามสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 4. ต้องมีบทลงโทษ รพ.เอกชน ที่ไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่